ท่ามกลางการโจมตีอย่างดุเดือดของเหล่า “มิจฉาชีพ” เพื่อหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งจะทำทุกวิถีทางเพื่อเจาะเข้าระบบของคุณ เพื่อหาข้อมูลส่วนตัวของคุณ รวมทั้ง หาวิธีหลอกเอาเงินของคุณออกจากกระเป๋า
การเก็บ “พาสเวิร์ด” หรือ “รหัสผ่าน” ให้ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ควรจดไว้ในกระดาษ หรือบอกคนที่ไม่น่าไว้ใจรู้ และควรตั้งพาสเวิร์ดให้เดายากสักนิด เพื่อให้มิจฉาชีพที่พยายามถอดรหัสของเราเดาได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนจำนวนมากที่ยังตั้ง “พาสเวิร์ด” ที่เดาได้ง่ายๆ มีความปลอดภัยต่ำอยู่จำนวนมาก
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา NordPass ซึ่งเป็นผู้ทำโปรแกรมจัดการรหัสผ่าน ที่เปิดตัวในปี 2562 ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดระเบียบรหัสผ่านและบันทึกย่อที่ปลอดภัยได้ เปิดโผ “รหัสผ่าน ยอดแย่ประจำปี 67” ออกมาสู่สาธารณะ โดยการศึกษาของ NordPass ในปีนี้ ได้ดำเนินการร่วมกับ NordStellar จากการใช้ฐานข้อมูลขนาด 2.5 เทราไบต์ ซึ่งรวบรวมจากแหล่งข้อมูลสาธารณะ รวมถึงบางส่วนที่พบในดาร์กเว็บ โดยรหัสผ่านเหล่านี้เป็นรหัสที่เคยถูกเปิดเผยจากมัลแวร์หรือการรั่วไหลของข้อมูล และการศึกษาฉบับสมบูรณ์ครอบคลุมข้อมูลจากผู้คนใน 44 ประเทศ
และผลการศึกษาเกี่ยวกับ “พาสเวิร์ด” หรือ รหัสผ่านที่พบได้บ่อยที่สุด 200 อันดับทั่วโลก ซึ่ง NordPass ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ยังออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะดูเหมือนว่า ความพยายามในปีที่ 6 ที่จะทำให้คนใช้พาสเวิร์ดที่ปลอดภัยยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะรายชื่อรหัสผ่านยอดนิยมยังคงเต็มไปด้วยรหัสที่ถูกเจาะง่ายเหมือนปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามรายงานของ NordPass รหัสผ่านที่มีการใช้งานมากที่สุดทั่วโลก 10 อันดับแรกในปี 2567 และถือเป็นรหัสผ่านยอดแย่แห่งปีด้วย ประกอบด้วย อันดับแรก 123456 ตามมาด้วย 123456789 และ 12345678 รหัสผ่านอันดับที่ 4 คือ password อันดับ 5 qwerty123 อันดับ 6 qwerty1 ขณะที่อันดับที่ 7 คือ 111111 อันดับที่ 8 คือ 12345 อันดับที่ 9 secret และอันดับสุดท้าย 123123
...
“หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลมานาน 6 ปี เราสามารถพูดได้ว่าไม่มีการพัฒนามากนักในนิสัยการตั้งรหัสผ่านของผู้คน” NordPass ระบุ
NordPass ยังประเมินด้วย ว่า การเจาะรหัสยอดแย่เหล่านี้ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งวินาทีสำหรับแฮกเกอร์ และที่สำคัญคือนับเป็นปีที่ 5 แล้วที่รหัสผ่าน “123456” ยังคงครองอันดับหนึ่ง โดยถูกแซงหน้าไปเพียงครั้งเดียวนับตั้งแต่ NordPass เริ่มทำการศึกษาประจำปี
ใครที่ยังตั้งรหัสผ่านแบบนี้อยู่ อยากให้ลองเปลี่ยนรหัสใหม่ให้ยากกว่านี้สักนิด เพราะอาจจะทำให้เราหลุดโผจากกลุ่มแรกที่ถูกกาหัวว่า “หลอกง่าย” กลายมาเป็นกลุ่มลำดับ 2 ของมิจฉาชีพที่จะตั้งเป้าหมายโจมตี
และไหนๆจะเปลี่ยนทั้งที ขอเพิ่มอีกนิดว่า อย่าตั้งรหัสผ่านที่เห็นได้จากข้อมูลบัตรประชาชน เช่น วันเดือนปีเกิด หรือเลขท้ายบัตรประชาชน เพราะเลขเหล่านั้น เป็นเลขที่แฮกเกอร์จะลองถอดรหัสของเราต่อไป หลังจากลองใช้รหัสยอดแย่เหล่านี้.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม