ในงาน Worldwide Developers Conference หรือ WWDC 23 ซึ่งเป็นงานประชุมนักพัฒนาระดับโลกของแอปเปิล (Apple) ซึ่งในปีนี้ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้ำยุคกับชุดแว่น Apple Vision Pro ที่นำเทคโนโลยีของ spatial computer ที่จะเปลี่ยนโลกของการใช้คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง
ในงานดังกล่าวยังได้มีโครงการ Swift Student Challenge เป็นการแข่งขันสร้างสรรค์แอป Playground ตามแบบฉบับของตนเอง โดยใช้ภาษาการเขียนโปรแกรม Swift ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงงาน WWDC โดยในปีนี้มีผู้ชนะการแข่งขันจากทั่วโลกรวม 375 คน
ซึ่งมีผู้ชนะจากประเทศไทยจำนวน 7 คน เป็นนักเรียนและนิสิตนักศึกษาที่ต่างมีความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาที่เรามักพบเจอในทุกๆวัน โดยผู้ชนะโครงการดังกล่าวจะมีโอกาสได้เข้าร่วมเซสชันของ WWDC23 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการพัฒนาแอปด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากทีมวิศวกรของแอปเปิล ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานของผู้ชนะทั้ง 7 คนได้ที่ Apple Central World ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เวลา 11.00-13.00 น. หากใครสนใจสามารถร่วมชมได้...มาทำความรู้จักคนเก่งกัน
...
ภานุวัฒน์ วงศ์พัฒนวุฒิ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขาวิทย์-คณิต
ผลงาน : “Arkom” เป็นเกมแนวเอนด์เลสรันเนอร์ที่ผู้เล่นต้องหลบหลีกจากผีที่มาจากด้านบนของหน้าจอ เกมนี้ผู้เล่นสามารถพูดคำที่ปรากฏอยู่ด้านบนของหน้าจอได้ และมีตัวระบบรู้จำเสียงจาก Apple’s speech framework ที่ใช้ตรวจสอบว่าผู้เล่นสะกดคำได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าการสะกดคำตรงกับคำที่ปรากฏของสิ่งนั้นจะเสกออกมาเพื่อโจมตีผีเหล่านั้น แรงบันดาลใจของโปรเจกต์นี้เกิดมาจากการเล่นเกมวิซาร์ดบนคอนโซล ผมคิดขึ้นที่จะสร้างเกมนายจอมเวทไทย หรือหมอผี ในแนวเอนด์เลสรันเนอร์เพราะเป็นหมวดเกมโทรศัพท์มือถือที่ผมชื่นชอบมากที่สุด
ในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเตรียมตัวสำหรับการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษและจะเข้ามัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ดังนั้นคิดค้นความคิดใหม่ขึ้นมาว่าหากรวมคำศัพท์เข้าไว้ในเกม มันอาจช่วยให้ผมจำคำศัพท์ได้มากขึ้นและสะกดมันได้อย่างถูกต้อง เพราะเหตุนี้ผมตัดสินใจที่จะทำโปรเจกต์นี้
โชติวัฒน์ ตั้งสถาพร สาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มัธยมศึกษาปีที่ 4 สาขา : วิทย์-คณิต
ผลงาน : BUB เกิดจากประสบการณ์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้พิการทางสายตา ทำให้ได้รับรู้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ของพวกเขาคือ ความลำบากในการเดินทางด้วยรถเมล์ เนื่องจากบางครั้งการที่พวกเขาขอความช่วยเหลือและสอบถามเส้นทางกับผู้คนรอบข้าง คำตอบที่ได้รับกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ จึงอยากช่วยเหลือพวกเขาโดยการทำแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา โดยแอปฯนี้จะช่วยตามหาสายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุดให้เรา เพียงแค่ระบุสถานที่ปลายทางด้วยเสียง ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาสามารถพึ่งพาตนเองได้ และรู้สึกสบายใจในการเดินทางด้วยรถเมล์มากขึ้น
...
ศุภโชติ ตระการศิโรรัตน์ โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สาขาวิศวกรรมทั่วไป
ผลงาน : Simply Cipher เป็นแอปพลิเคชันหมวดหมู่เพื่อการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ Crypto graphy (เครบโทกราฟฟี่) หรือวิทยาการเข้ารหัสลับ ซึ่งคือระบบการปกปิดข้อมูลด้วยการแปลงข้อความธรรมดาให้เป็นข้อความรหัสลับ ปัจจุบันมีมาแล้วหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น “รหัสซีซาร์” และ “รหัสลับแบบสับเปลี่ยน” แรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาคอร์สเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ออนไลน์ที่ได้ศึกษามา ซึ่ง Cryptography เป็นหัวข้อที่ลึกและอาจจะเข้าใจได้ยาก จึงทำให้ผมได้สร้างแอปนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนหรือผู้เล่นสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย
...
นนท์ปวิธ อินต๊ะแก้ว โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขา วิทย์-คณิต
ผลงาน : Color Master เป็นแอปในเชิงการศึกษาที่ช่วยให้ผู้ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกแห่งสี โดยมีเครื่องมือต่างๆที่ทำให้ผู้ใช้ไม่เบื่อกับการเรียน เช่น เครื่องมือ Interactive, เครื่องมือจำลองตาบอดสี นอกจากนี้ภายในแอปก็มีแบบฝึกหัดให้ผู้ใช้ลองทำหลังจากที่เรียนด้วยครับ และส่วนสุดท้ายคือการทดสอบอาการตาบอดสีเบื้องต้น—โดยแรงบันดาลใจของแอปมาจากตอนที่เรียนหัวข้อเรื่องแสงและการมองเห็นในวิชาฟิสิกส์ตอน ม.5 ส่วนใหญ่จะได้เรียนแต่เชิงทฤษฎี จึงเป็นไอเดียให้ทำแอปนี้ขึ้นมา
...
วงศ์ไกรวิชชญ์ ชื่นชมภู โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขา วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (วิศวกรรม-สถาปัตยกรรม-AI)
ผลงาน : จากความชอบของผมในการฟังเพลง Vocaloid ที่ใช้ซอฟต์แวร์สร้างเสียงร้องเพลง ผมจึงเกิดความคิดในการทำให้ Siri สามารถร้องเพลงได้ตรงคีย์ ตรงจังหวะ และให้ Siri ร้องเพลงที่ชอบ หรือเป็นพื้นที่ทดลองฝึกการแต่งเพลง จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน SiriSings ขึ้น จากการแข่ง Swift Student Challenge เมื่อปีก่อนหน้า ทำให้ผมได้เกิดความคิด และแรงบันดาลใจในการผสมผสานความชอบในด้านดนตรีกับการเขียนโปรแกรมเข้าด้วยกัน ทำให้ผมสร้างแอปพลิเคชันด้านดนตรีอย่าง MusicBar เพื่อแสดงข้อมูลเพลงที่กำลังเล่นใน Status Bar ของ Mac และนำความรู้จากการสร้างสิ่งใหม่ๆส่งต่อน้องๆใน Swift Coding Club เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อไป
ภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขา Robotics
ผลงาน : SquareLand เป็นเกมที่ผสมผสานระหว่างคิด สมาธิ และความผ่อนคลาย โดยผู้เล่นจะต้องต่อแผ่นเกาะต่างๆเข้าด้วยกัน ด้านที่เหมือนกันจึงจะต่อกันได้ ใช้เวลาในการเลือกและต่อแผ่นละ 30 วินาที ทั้งนี้ในการเล่นจะมีการสุ่มแผ่นให้ผู้เล่นเลือก และทำเควสเพื่อเพิ่มโอกาสในการสุ่ม ผู้เล่นจะต้องคิดวางแผนการในการต่อแผ่นเกาะให้ได้ 18 แผ่นจึงจะชนะเกมได้ แรงบันดาลใจของเกมนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า หากโดมิโนต่อ 2 ด้านที่เหมือนกัน ทำไมไม่มีการต่อ 4 ด้านที่เหมือนกันล่ะ โดยโปรเจกต์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เขียนโปรแกรมอย่างจริงจัง ได้เรียนรู้ ทดลอง และต้องขอบคุณเพื่อนๆที่ช่วยชักชวน และแนะนำให้ได้รู้จัก Swift ได้ร่วมก่อตั้งชมรม Swift Coding Club ด้วยกัน จนมีแรงฮึดให้ก้าวขึ้นมาเรียนรู้การเขียนโปรแกรมให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
พัชรดา เทวาดิเทพ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขา : Gifted Computer PLUS
ผลงาน : TEETHSTORY เป็นแอปพลิเคชันสำหรับเด็กอายุ 8-12 ปี ที่เน้นปลูกฝังการแปรงฟันที่ถูกต้องโดยนำเสนอเป็นรูปแบบเกม เพื่อให้เด็กๆ มี user experience ที่ดีที่สุดและอยากกลับมาใช้งานแอปพลิเคชันอีกด้วย 5 ฟังก์ชันที่สนุกและใช้งานง่าย เริ่มจาก Teeth Model : จำลองโมเดลฟันพร้อมบอกตำแหน่งที่ผู้ใช้งานต้องแปรง เพื่อให้แปรงฟันครบทุกซี่ Song : ระหว่างแปรงฟันจะมีเพลงที่สนุกสนานเล่นคลอเพื่อให้การแปรงฟันไม่น่าเบื่อ Progress Bar : กำหนดเวลาแปรงฟัน 2.30 นาที (American Dental Association) Day n’ Night Levels : ในแต่ละเลเวล เด็กๆจะต้องเล่นสองครั้ง เพื่อให้ในหนึ่งวันแปรงฟันครบสองครั้ง Story : หลังจากแปรงฟันสองครั้งจนครบหนึ่งเลเวล แอปพลิเคชันจะมีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับฟันของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง.