คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ (Automate Vaccine) ช่วยดูดวัคซีนแอสตราเซเนกา บรรจุลงเข็มฉีดยาได้อย่างแม่นยำ ภายใน 4 วินาที เตรียมนำมาใช้งานจริงเร็วๆ วันนี้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้การดูดวัคซีนและการแบ่งบรรจุวัคซีนแต่ละโดสมีความแม่นยำตามที่กำหนด
ตามปกติแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนชนิดบรรจุหลายโดส โดย 1 ขวดใช้สำหรับฉีด 10 โดส จำนวนโดสละ 0.5 มิลลิลิตร แต่ผู้ผลิตจะบรรจุวัคซีนเกินมาให้ราว 6.5 มิลลิลิตร
ในส่วนขั้นตอนการแบ่งบรรจุวัคซีน เจ้าหน้าที่เตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวดโดยใช้หัวดูดสุญญากาศ ผ่านหลักการดูดของเหลว โดยมี Air Cushion ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรงแล้วเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด
...
ทั้งนี้ตัวเครื่องทำงานบนสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป
เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนดังกล่าว จะช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ในการดูดวัคซีนออกจากขวด ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้จุดฉีดวัคซีนขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา
นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยเพราะกระบวนการไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน เข็มและหลอดฉีดยาที่แบ่งบรรจุจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสเจือปนกันของวัคซีนแต่ละขวด ส่วนการนำมาใช้งานจริงจะมีการหารือร่วมกันต่อไป
ภาพ: ชุติมน เมืองสุวรรณ