พัฒนาหลักสูตรลดการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) เปิดให้บริการเดือน ม.ค.ปีหน้า หวังสร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่เอื้ออาทร ปลอดภัย และเท่าเทียม หลังพบ 91% ของเด็กมัธยม อาชีวะเคยถูกแกล้งให้เสียใจ และ LGBT เป็นเป้าหมายหลัก ตีแผ่ปัญหาเด็กอยากให้ครูช่วย แต่ไม่เชื่อในความยุติธรรม กลัวครูเลือกที่รักมักที่ชัง ตลอดจนครูไม่มีทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหา
จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา” ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี 2561 โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นว่า 91% จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่าง เคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาทำให้เสียใจหรือเสียความรู้สึก โดยเยาวชนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT เป็นเป้าหมายหลักของการกลั่นแกล้ง รังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์
นอกจากนี้ เด็กนักเรียน 33.8% ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ก็มักไม่เชื่อถือในความยุติธรรมของครู เพราะครูชอบเลือกที่รักมักที่ชัง และอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วย
ต่อปัญหาดังกล่าว นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า หากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์ อาจต้องเริ่มที่การป้องกันการกลั่นแกล้งทางกายภาพจริงก่อน
โดยดีแทคและองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” เพื่อหวังส่งเสริมการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กสู่โลกดิจิทัล
...
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักสูตรเกิดขึ้นจากการจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียนที่ภาคเหนือ และนำข้อมูลมาพัฒนาในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ม.ค.2564 ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้
เนื้อหาของหลักสูตร ยังมีการนำทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือ SOGIESC ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วน มาใช้ ได้แก่ Sexual Orientation : SO หรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์ Gender Identity : GI หรืออัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึงความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศซึ่งอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด Gender Expression : GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศที่ติดตัวแต่กำเนิดนั่นคือ เพศหญิงและเพศชาย
ด้านนางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าจะในออนไลน์หรือออฟไลน์ เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ “ความแตกต่าง” คนที่แตกต่างจึงมักตกเป็น “เหยื่อ” ทั้งที่ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ
หลักสูตรจึงจะเน้นถึงการเคารพในความหลากหลายทางเพศ มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่หลากหลายของมนุษย์ สร้างการเคารพในความแตกต่าง เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ”
รวมทั้งแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอน ให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น.