ปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชนมาพักใหญ่ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ที่ทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า จะมีการประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อนำพาสหรัฐอเมริกา ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, ควันตัม คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยี 5 จี
ในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุถึงการผลักดันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอนาคตใหม่ นับเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญว่า ครั้งนี้ทำเนียบขาวเอาจริง หลังจากได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมครั้งนั้นทำเนียบขาวก็ยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม จนล่าสุดที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอ-นัลรายงานข่าวยืนยันว่า รัฐบาลต้องการมีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 5 จี ให้รวดเร็ว ว่องไวขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาเอาไว้
ขณะเดียวกัน นางอีวังกา ทรัมป์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ระบุ รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์จะทำให้อเมริกาเป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมยุคหน้าให้ได้ โดยแรงงานสหรัฐฯจะต้องมีทักษะในการรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคใหม่ ได้เป็นอย่างดี
ข้ามฟากมาที่เยอรมนี นางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ก็กำลังต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเดินหน้ากำหนดนโยบาย 5 จี ว่าควรจะให้หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ไอทีจากจีน เข้าร่วมการลงทุน 5 จี ในเยอรมนีหรือไม่ เพราะเครือข่ายของหัวเว่ยกำลังถูกกดดันและถูกตั้งข้อสังเกตด้านความปลอดภัยจากการสอดแนมของรัฐบาลจีน
นางแมร์เคิล ผู้ซึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า หัวเว่ยต้องทำให้เยอรมนีมั่นใจให้ได้ว่า ข้อมูลที่หลั่งไหลผ่านเทคโนโลยี 5 จีของหัวเว่ยนั้น จะไม่หลุดรอดไปสู่มือรัฐบาลจีน เพราะเทคโนโลยี 5 จี คือการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นับพันนับหมื่นล้านชิ้นให้ติดต่อสื่อสาร พูดคุยกันได้ทั้งหมด
...
กระนั้น การตัดหัวเว่ยออกไปจากการลงทุนอย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากหัวเว่ยมีความแข็งแกร่งด้านราคาขายที่แข่งขันได้มากกว่าผู้ให้บริการด้านเครือข่ายจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อีริคสันจากสวีเดน หรือโนเกียจากฟินแลนด์
หัวเว่ยยักษ์ไม่ยักษ์ ดูจากยอดขายเครือข่ายต่อปีที่มีมูลค่าทะลุ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) นอกจากนั้น หัวเว่ยยังกำลังพยายามอย่างมากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลเยอรมนี ด้วยการลงทุนสร้างห้องทดลองด้านความปลอดภัยไว้ที่เยอรมนี เพื่อความอุ่นใจด้วย
ขณะเดียวกัน ด้านสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการห้ามซื้อ ห้ามใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยนั้น ก็คาดหวังในพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป นำโดยเยอรมนีมากว่า ควรจะต้องเห็นพ้องต้องกัน.