ทำความรู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังการเนรมิตแอปไทยรัฐ เออาร์ ที่พัฒนาโดยอุ๊คบี ภายใต้ความร่วมมือครั้งสำคัญร่วมกับไทยรัฐ เพื่อใช้กับหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ 20 ม.ค.นี้…

ถึงวันนี้...ทุกคนคงทราบแล้วว่า "ไทยรัฐ" เตรียมพลิกประสบการณ์การอ่านหนังสือพิมพ์ สู่รูปแบบสุดพิเศษที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality : AR) ผ่านการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันไทยรัฐ เออาร์ (Thairath AR) และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ เนื่องในวาระ 100 วันแห่งความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 20 มกราคม


เพื่อย้ำชัดถึงความพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนับจากนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลัง ในการเนรมิตประวัติศาสตร์บทใหม่ของวงการหนังสือพิมพ์ไทย ด้วยรูปแบบแสง สี เสียง และสื่อประสม ที่เตรียมฟื้นคืนชีวิตให้หนังสือพิมพ์เป็นมากกว่าแค่หน้ากระดาษสีขาวดำ

หากใครยังนึกภาพไม่ออก เราขอเกริ่นเรียกความจำอีกครั้ง ว่า…แอปพลิเคชัน Thairath AR เป็นความร่วมมือระหว่าง ไทยรัฐ กับ บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้พัฒนาแอพอี-บุ๊คส์ในชื่อ อุ๊คบี (OOKBEE) ส่วนความร่วมมือในครั้งนี้จะแปลกใหม่ ยิ่งใหญ่ ขนาดไหน เชิญตามไปอัพเดตพร้อมกัน!

"ความร่วมมือระหว่างไทยรัฐกับอุ๊คบีในครั้งนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกัน ด้วยแนวคิดเดียวคือทำถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นครั้งสุดท้าย" นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด เริ่มต้นเล่าและเปิดเผยอีกว่า บริษัทรับผิดชอบการพัฒนาแอปพลิเคชัน Thairath AR ส่วนคอนเทนต์ทั้งหมดในแอพนั้นเป็นความรับผิดชอบของไทยรัฐ

...



ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อุ๊คบี ยังกล่าวอีกว่า ในการพัฒนาแอป Thairath AR ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานด้วยเวลาที่รวดเร็ว เนื่องจากทุกฝ่ายต้องการดำเนินงานออกมาให้เสร็จสมบูรณ์ภายในช่วงดังกล่าว ซึ่งโดยปกตินั้น การพัฒนาแอปพลิเคชันจะใช้งบประมาณลงทุนในส่วนของระบบและคอนเทนต์จำนวนหลายสิบล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษและแอปพลิเคชัน Thairath AR นี้ ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีจากการใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเออาร์เนื่องจากยังไม่เป็นที่แพร่หลายในชีวิตประจำวัน แต่ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน เพียงเข้าไปดาวน์โหลดจากระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ใช้งานอยู่

"สิ่งสำคัญที่เราอยากเห็นจากความร่วมมือในครั้งนี้ก็คือ คนไทยดาวน์โหลดแอป Thairath AR และใช้งานร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ เพื่อรำลึกถึงพระองค์พร้อมด้วยความประทับใจและซาบซึ้งถึงเรื่องราวต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสีสันให้เนื้อหาแบบใหม่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งรับรองว่านอกจากเนื้อหาที่มีคุณภาพ ผู้อ่านจะได้รับความสนุก ตื่นตาตื่นใจ และประทับใจอย่างแน่นอน"

นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิ ยังแนะนำอีกว่า สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทั่วไปก็สามารถใช้งานแอป Thairath AR ได้อยู่แล้ว เพียงแต่แนะนำให้ใช้ไวไฟในการดาวน์โหลดเพื่อประหยัดอินเทอร์เน็ต


ด้าน นายเนติพิกัด ตังคไพศาล ผู้จัดการกราฟิกโทรทัศน์ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หนึ่งในทีมร่วมพัฒนาแอป Thairath AR กล่าวว่า เนื้อหาภายในแอปดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ภาพ วิดีโอ และกราฟิก 3 มิติ จากความร่วมมือในการรวบรวมและนำเสนอเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แอป Thairath AR มีความพร้อมให้ใช้งานแล้วกว่า 99% เชื่อว่าจะพร้อมให้บริการอย่างสมบูรณ์ได้ตามกำหนดวันที่ 20 มกราคมอย่างแน่นอน

"ถือเป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ไทยนำเทคโนโลยีเออาร์เข้ามาใช้งาน เชื่อว่าผู้อ่านจะต้องชื่นชอบและประทับใจกับเนื้อหาในรูปแบบแสง สี เสียง 3มิติ รวมถึงเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษวันที่ 20 มกราคม ซึ่งในระหว่างนี้ผู้ที่ดาวน์โหลดแอป Thairath AR ไปแล้ว ก็สามารถนำไปส่องที่โลโก้บนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทุกฉบับเพื่อเปลี่ยนให้เป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งหมุนชมได้ 360 องศาอีกด้วย"

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Thairath AR พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการไอโอเอส สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ตระกูลแอปเปิล และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ตระกูลแอนดรอยด์.



อ่านเพิ่มเติม : 
พลิกโฉมหนังสือพิมพ์! 'ไทยรัฐ' ผุดแอพ AR มิติใหม่รับยุคดิจิตอล
จับตาเทรนด์ AR พยุงธุรกิจ! ไทยรอยักษ์ประเดิมตลาด ปฏิวัติเทคโนโลยี
ยุคทอง AR? เมื่อธุรกิจโดดพึ่งเทคโนโลยี เปิดช่องประชิดลูกค้า
รู้จักเทคโนโลยี AR 'ความจริงเสริม' โลกเสมือนมาเจอชีวิตจริง (ชมคลิป)

...