หลังจากอดตาหลับขับตานอนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเต็มๆ ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทีมผู้ชนะได้แก่ทีม PAPA ซึ่งเป็นการรวมกันอย่างลงตัวของนิสิตจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่หนึ่ง กับการหาจนเจอว่าบอร์ดเกม “ไทยรัฐ” จะตอบโจทย์ช่วยสู้เฟกนิวส์

ความน่าสนใจของทีม PAPA อย่างหนึ่งอยู่ตรงที่สมาชิกทั้ง 4 คน ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้เป็นนักพัฒนา (Developer) แต่เป็นการรวมตัวกันของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานบอร์ดเกมที่มีชื่อว่า “ไทยรัฐ” ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจคณะกรรมการ ก่อนเข้าป้ายคว้าแชมป์ไทยรัฐออนไลน์ Hackathon พร้อมเงินรางวัลเงินสดจำนวน 100,000 บาท รวมถึงได้รางวัล Popular Vote กับเงินรางวัลอีก 20,000 บาท

หลังสิ้นเสียงการประกาศผู้ชนะจากพิธีกรภายในงาน สมาชิกทีม PAPA ทั้ง 4 คนกลับรู้สึกงุนงง พลางไม่เชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้ชนะ บ้างก็คิดว่าพิธีกรประกาศรางวัลผิด แต่ทุกอย่างถูกต้องแล้ว ทีม PAPA คือผู้ชนะของค่ำคืนนั้น

ผู้เขียนได้ขอเวลาในช่วงที่ทีม PAPA กำลังมึนงงในชัยชนะเคล้ากับความอิ่มเอมหลังจากที่ได้รู้ว่าเป็นผู้ชนะ มาพูดคุยถึงความรู้สึกหลังเสร็จสิ้นศึก 24 ชั่วโมงไทยรัฐออนไลน์ Hackathon

นิสิตแพทย์ + สถาปัตย์ ความต่างที่ลงตัว

ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น สมาชิกทั้ง 4 ของทีม PAPA ไม่ได้มาจากสายนักพัฒนา ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ แต่พวกเขาทั้ง 4 มีความสนใจในสิ่งที่เรียกว่า Hackathon

สมาชิกทีม PAPA จากซ้ายไปขวา อัครพล, กัณติกา, หยาดทิพย์ และ พิชชาภา
สมาชิกทีม PAPA จากซ้ายไปขวา อัครพล, กัณติกา, หยาดทิพย์ และ พิชชาภา

...

สมาชิกทั้ง 4 ประกอบไปด้วย พิชชาภา รุ่งอารยะ (อะตอม), หยาดทิพย์ เนื่องจำนงค์ (พิม), อัครพล ธนวัฒนาเจริญ (เอก) และกัณติกา วิชญเมธากุล (ปุ๊น) โดยพิชชาภา และหยาดทิพย์ เป็นนิสิตร่วมคณะแพทยศาสตร์ ขณะที่อัครพล และกัณติกา เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งทั้ง 4 คนมาจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเตรียมตัวมาไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ของทั้ง 4 คน เริ่มจากการที่พวกเขาได้ฟอร์มทีมเพื่อทำการแข่งขัน Hackathon ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน โดยตอนนั้นเป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอมหรือ Fake News

จากนั้นรุ่นพี่ได้แนะนำว่าที่ไทยรัฐออนไลน์ กำลังจะมีการแข่งขัน Hackathon ทีม PAPA จึงยกโขยงมาแข่งขันต่อในไทยรัฐออนไลน์ Hackathon โดยใช้ประเด็นของ Fake News เป็นจุดตั้งต้นมาต่อยอดสำหรับการแข่งขันครั้งนี้

ในส่วนความแตกต่างของการแข่งขันระหว่างไทยรัฐออนไลน์กับรั้วมหาวิทยาลัย ทีม PAPA มองว่า มีความแตกต่างกันเยอะมาก โดยการแข่งขันที่จุฬาฯ มีเวลาให้มากถึง 5 วัน เพียงแต่โจทย์ที่ได้รับจะเป็นในการแข่งขันวันนั้นเลย ทำให้มีเวลาคิด เวลาตีโจทย์ให้แตกน้อยมาก

แต่การแข่งขันที่ไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับโจทย์มาก่อนล่วงหน้า เมื่อมาถึงหน้างานก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปรึกษากับ Mentors เพื่อแก้ช่องโหว่ของงาน นอกจากนี้ การแข่งขันที่ไทยรัฐออนไลน์ เป็นการแข่งขันร่วมกับคนหลายช่วงอายุ หลายช่วงวัย ซึ่งต่างจากการแข่งขันก่อนหน้านี้ ที่จะมีเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การแข่งขันไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ก็มีความยาก เพราะนั่นหมายความว่า ทีม PAPA และทุกทีมที่เข้าแข่งขันจะมีเวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องต่อสู้กับเวลานอนอีกด้วย

“สิ่งที่ทีมของเราชอบเป็นพิเศษคือ ปกติแล้วการแข่ง Hackathon ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ซักถามกรรมการมากนัก แต่ที่ไทยรัฐออนไลน์เปิดกว้างในเรื่องนี้ จึงได้รับฟีดแบ็กเกี่ยวกับชิ้นงานโดยตรง และรู้สึกได้ว่ามันเป็นการแข่งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง”

คนรุ่นใหม่มองเฟกนิวส์

มุมมองของทีม PAPA ที่มีต่อเรื่องของเฟกนิวส์ เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาของเฟกนิวส์อยู่ตรงที่การขาดเรื่องของ Critical Thinking ขาดการประมวลความคิด เห็นอะไรแล้วเชื่อสิ่งนั้นเลย โดยไม่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

แต่สิ่งเหล่านี้ สามารถพัฒนาได้ โดยคิดให้รอบด้านมากขึ้น ใช้เหตุผลวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้น พร้อมสำรวจองค์ประกอบอื่นๆ ก่อนพิจารณาตัดสิน และประเมินความถูกต้อง

จากการวิเคราะห์ของทีม PAPA พบว่าเหตุผลที่คนอยากแชร์ข่าว มีด้วยกัน 3 เหตุผล ได้แก่ 1. อยากให้คนอื่นรู้ 2. คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ และ 3. แชร์แล้วดูดี ตรงนี้จำเป็นต้องเพิ่มความสงสัยเข้ามาด้วยว่าข่าวที่ว่านั้น มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน เพราะการกดปุ่มแชร์มันเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของเฟกนิวส์ เมื่อมันกระจายตัวไปแล้ว สิ่งที่จะเป็นปัญหาอย่างยิ่งทันที นั่นคือ การตามแก้ไขข่าวที่มันกระจายตัวไปแล้วเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญควรเริ่มจากต้นตอ โดยการทำให้คนสงสัยก่อนว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในนั้น เป็นข่าวที่จริงหรือไม่

ปัญหาในการแข่งขัน

ตลอด 24 ชั่วโมงที่ทีม PAPA ต้องเผชิญนั้นตลอดการแข่งขันไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ถือว่าน่าสนใจ โดยทีม PAPA ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของขยะพลาสติก ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกทีมจะต้องใช้กินใช้ดื่ม

พร้อมกันนี้ พออยู่ในรูปแบบของการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงอย่างคุ้มค่าในการสร้างผลิตภัณฑ์ จึงต้องมีอาหารและเครื่องดื่มคอยให้บริการตลอด ซึ่งตรงจุดนี้ ทำให้กลายเป็น Food Waste ไป

ทีม PAPA ขณะที่อยู่ภายในงานไทยรัฐออนไลน์ Hackathon
ทีม PAPA ขณะที่อยู่ภายในงานไทยรัฐออนไลน์ Hackathon

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ทีม PAPA ฟันธงลงประเด็นว่าเป็นเรื่องของ “ความเครียด” โดยทีมยอมรับว่า ถ้าเหลือบมองไปดูผู้เข้าแข่งขันทีมอื่นๆ ก็จะเห็นว่าแต่ละทีมมีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น บางทีมเป็นนักพัฒนาแอปที่มีคนใช้งานทั้งประเทศ

“เราคิดว่าเราสู้ไม่ได้ เราแปลกไป ถอดใจแล้วถอดใจอีก เหมือนวนอยู่ในอ่าง แต่สุดท้ายก็ฮึดมาจนทำงานออกมาสำเร็จ กลายเป็นบอร์ดเกม “ไทยรัฐ” และทันสำเร็จในการพิตช์ (Pitch)”

อย่างไรก็ดี ทีม PAPA ยอมรับว่า ขณะที่ทำการแข่งขัน ทีมทำงานได้ล่าช้ากว่าที่คิด เพราะมีการเปลี่ยนโจทย์กลางอากาศ เพราะตอนแรกทีมจะทำแค่แผนการตลาดสำหรับโปรโมตไทยรัฐ พลัส แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว คุยกับทีมงานไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ก็เลยคิดว่าแผนการตลาดมันเล็กไป

หลังจากคิดไปคิดมาเรื่อยๆ จึงอยากที่ดันผลิตภัณฑ์ออกมาให้สุด ก็มาจบที่หลักคิดจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งแต่ก่อนมีความผูกพันกับคนในสังคมไทย โดยความผูกพันที่ว่านั้น มันเป็น Pain Point ที่มีน้ำหนัก และน่าจะมี Impact ต่อวงกว้าง

ดังนั้นแล้ว ทีม PAPA จึงได้เอาเรื่องของ Critical Thinking มาผนวกกับบอร์ดเกม มันดูเป็นสิ่งใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอ

ความรู้สึกแรกหลังเป็นผู้ชนะไทยรัฐออนไลน์ Hackathon

...

กัณติกา ขณะที่อยู่บนเวทีพิตช์
กัณติกา ขณะที่อยู่บนเวทีพิตช์

เมื่อการพิตช์บนเวทีของทีม PAPA เสร็จสิ้นลง ก็มาถึงช่วงเวลาของการประกาศผู้ชนะ โดยรางวัลแรกที่ประกาศออกมาเป็นรางวัล Popular Vote ซึ่งตกเป็นของทีม PAPA

“นั่นคงเป็นรางวัลเดียวที่ทีมจะชนะ” ทีม PAPA กล่าว

หลังจากนั้นก็มาเป็นในส่วนรางวัลชมเชย ซึ่งมีด้วยกัน 2 รางวัล แต่รางวัลชนะเลิศ ซึ่งมีหนึ่งเดียว โดยพลันที่ประกาศออกมาเป็นชื่อของทีม PAPA ความรู้สึกแรกของทีม PAPA คือ “ช็อก”

ความคิดแรกของทีม PAPA คิดว่า พิธีกรบนเวทีประกาศผิดรึเปล่า หรือทีมเราที่ได้ยินผิดไปเอง เพราะก่อนหน้าที่พิธีกรจะประกาศรางวัล ทีมได้กะเก็งว่าน่าจะเป็นทีมอื่นที่เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ เพราะหลายทีมมีแนวคิดที่ดีมากๆ

ถ้าถามว่าสาเหตุทำไมทีม PAPA เป็นผู้ชนะนั้น พวกเขาประเมินตัวเองว่าเป็นเพราะไอเดีย “บอร์ดเกมไทยรัฐ” มันมีความสดใหม่ มีความแปลกแตกต่างจากผู้เข้าแข่งขันทีมอื่นๆ

อีกอย่างหนึ่งคือด้วยงบประมาณหลักแสนบาท มันเพียงพอที่จะพัฒนามาเป็นบอร์ดเกมได้หนึ่งเกม

“บอร์ดเกมไทยรัฐที่ทีมคิดขึ้นมา ค่อนข้างครบและจบในตัวระดับหนึ่งแล้ว และมันสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายด้วย เพราะจากความที่มันเป็นบอร์ดเกม ซึ่งตรงตามโจทย์ของไทยรัฐออนไลน์”

...

คว้าชัยใน Popular Vote ก่อนได้เป็นผู้ชนะในบั้นปลาย
คว้าชัยใน Popular Vote ก่อนได้เป็นผู้ชนะในบั้นปลาย

อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่มีต่อไทยรัฐ อาจไม่ได้มองในเรื่องข่าวเป็นหลักเพียงอย่างเดียว เพราะตอนนี้มีสื่อหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของทีม PAPA มองว่าการนำเสนอด้วยบอร์ดเกม ทำให้คนภายนอกที่มองเข้ามาแล้วเห็นว่า “อ้าวไทยรัฐก็มีดีนะ” พอเล่นเกมจบ ก็อาจวนกลับมาเป็นผู้อ่านของไทยรัฐต่อไป

ส่วน Pain Point ที่ทีม PAPA เสนอ เพราะมันจะเป็นความผูกพัน เป็นเรื่องของ Brand Loyalty จากหนังสือพิมพ์ที่อ่านกันทุกบ้านค่อยๆ หายไป อีกทั้งคนก็อาจไม่ได้อ่านข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ แต่เป็นการอ่านข่าวจากโซเชียลมีเดีย

เส้นทางหลังจากนี้

“ยังไม่ได้คิดเลย เพราะไม่ได้คาดคิดว่าหมอกับสถาปัตย์ที่ไหนจะชนะ Hackathon (หัวเราะ)”

นี่เป็นคำตอบจากทีม PAPA เมื่อถูกถามว่า พวกเขาจะทำอะไรหลังจากที่ได้เป็นผู้ชนะไทยรัฐออนไลน์ Hackathon แต่สิ่งที่ได้รับหลังจากการแข่งขัน 24 ชั่วโมงอันยาวนาน และ 5 นาทีบนเวทีพิตช์ที่ยาวนานเหมือน 50 ชั่วโมง มันคือหน้าหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต เป็นบทเรียนอันล้ำค่า

“จากที่เราได้แข่งไทยรัฐออนไลน์ Hackathon มันทำให้เรารู้ว่าถ้าเราล้มแล้ว ไม่ต้องไปกลัวที่จะเริ่มใหม่ ไม่ต้องกลัวที่จะล้มเลิก ต้องคิดให้แตกต่าง ต้องเสี่ยง ต้องมีลูกบ้า ถ้าเรามีจุดอ่อนเรื่องของนักพัฒนาที่เราไม่มี ก็แค่หาจุดแข็งอื่น ซึ่งก็คือเรื่องของไอเดียเข้ามาสู้” ทีม PAPA กล่าวปิดท้าย และก็ได้เวลาสนุกไปกับ After Party

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Sathit Chuephanngam

...