ไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ครั้งแรกของไทยรัฐและวงการสื่อในประเทศไทย ซึ่งงานนี้ มีผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีหลายแขนงมาเป็นเมนเทอร์ ให้คำแนะนำกับคนรุ่นใหม่
ภายในงาน ไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ครั้งแรกนี้ มีเมนเทอร์ (Mentor) ถึง 4 คน ได้แก่ เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ กรรมการผู้จัดการจากบริษัท Dreamaker, จิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ, วริศ วรรณวิธู จาก LINE Thailand และดาริน สุทธพงษ์ ซีอีโอจาก Hato Hub
เริ่มต้นที่ เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ กรรมการผู้จัดการของ Dreamaker ได้มอบคำแนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะทำสตาร์ทอัพว่า คนทำสตาร์ทอัพต้องมองให้ออกว่าธุรกิจที่กำลังจะทำปัญหาของมันคืออะไร แล้วมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร
จากนั้นมาดูต่อว่า โมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพ มีวิธีการหารายได้อย่างไร ตามด้วยการลงรายละเอียด การทำโปรโตไทป์ (Prototype) พร้อมกับศึกษาขนาดของตลาดว่าเป็นอย่างไร ใหญ่แค่ไหน และต้องไม่ลืมด้วยว่าคู่แข่งในตลาดเป็นใคร แล้วเราจะมีกลยุทธ์อย่างไร
นอกจากนั้น เอกสิทธิ์ แนะนำว่า เมื่อทำสตาร์ทอัพแล้ว ควรมีพันธมิตรทางธุรกิจด้วย เพราะจะทำให้คนทำสตาร์ทอัพสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของการทำประชาสัมพันธ์ และการหาลูกค้าเข้าบริษัท
...
เมนเทอร์คนต่อมา เป็นตัวแทนจาก Line Thailand นำโดย จิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ ตำแหน่ง Technology Evangelist และวริศ วรรณวิธู ตำแหน่ง Developer Relations
เมนเทอร์จาก LINE Thailand เปิดเผยว่า ในเวลานี้ คนไทยใช้ LINE เป็นจำนวนมาก จากตัวเลขล่าสุด LINE มียอดการใช้งานราว 47 ล้านรายต่อเดือน โดยตอนนี้ LINE ได้มีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาให้กับนักพัฒนาชาวไทยเป็นจำนวนมาก เช่น LINE Login สำหรับการเข้าล็อกอินต่างๆ ผ่านบัญชีของ LINE, บริการ LINE Notify ที่ใช้ในเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT มาช่วยเหลือเกษตรกรในการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรืออุณหภูมิ
นอกจากนี้ LINE ยังมี API ซึ่งเรียกว่า LINE Chatbot โดยในช่วงที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังไปทั่วประเทศอย่าง AWAY COVID-19 ที่ได้นำเทคโนโลยี LINE Chatbot มาทำหน้าที่ตรวจสอบการแพร่ระบาดของไวรัส พร้อมบอกด้วยว่าในพื้นที่นั้นๆ เคยเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ รวมถึงการค้นหาสถานพยาบาล และรายงานสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ AWAY COVID-19 ถูกพัฒนาโดยทีมงาน MAPEDIA ผู้ชนะจากการแข่งขัน NUxLINE Hackathon ดังนั้นแล้ว ในการแข่งขันไทยรัฐออนไลน์ Hackathon ก็อาจได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วกับ AWAY COVID-19 ได้เช่นกัน
ปิดท้ายที่ ดาริน สุทธพงษ์ ซีอีโอของ Hato Hub อธิบายถึงการสร้าง User Experience หรือ UX ที่ดี ซึ่งดาริน แนะนำว่า สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การใส่จิตวิญญาณเข้าไป เพื่อให้ประสบการณ์ในการใช้งาน มีการตอบสนองที่ดีแก่มนุษย์
"หน้าที่ของคนทำ UX ที่ดีคือการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นดิจิทัลนั้น มีชีวิตและตอบสนองต่อมนุษย์ให้ดีที่สุด"
...
พร้อมกันนี้ ดาริน ได้แนะนำคุณสมบัติที่ดีของ UX ประกอบด้วย 4 สิ่งเข้าด้วยกัน ได้แก่ หัวใจ สมอง ร่างกาย และหน้าตา โดยหัวใจ หมายถึง การเข้าใจแบรนด์ตัวเองและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์
ต่อมาคือสมอง จะเป็นเรื่องของการเข้าใจในกลยุทธ์ เพื่อให้เข้าใจและรู้ว่าตัวเราอยู่ตรงจุดไหน และจะไปจุดที่อยากไปให้ถึงได้อย่างไร
ร่างกาย เป็นในด้านการออกแบบ Interaction ของการใช้งาน ซึ่งเกี่ยวกับการตอบสนอง และภาษาที่จะสื่อออกมาให้กับผู้ใช้
สุดท้ายคือหน้าตา เกี่ยวพันกับ Visual Design ในเรื่องของสี องค์ประกอบของภาพ ขนาดของฟอนต์ และช่องว่าง (White Space)