• ไทยยังไม่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เพราะยังติดขัดกับกฎหมายบางประการ
  • สตาร์ทอัพที่จะเป็นยูนิคอร์นได้ ต้องเน้นตลาดใหญ่ มีการบริโภคสูง แต่ต้องไม่ถูกก๊อบปี้ง่ายเกินไป
  • สตาร์ทอัพยูนิคอร์น เป็นเครื่องมือชี้วัดว่า ประเทศนั้นๆ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพหรือไม่

ยูนิคอร์น เป็นสัตว์วิเศษที่ปรากฏในวรรณกรรม หรือเทพนิยาย ยูนิคอร์นมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ขึ้นชื่อเรื่องความยากในการพบเห็น ในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เคยพูดถึงยูนิคอร์น สัตว์หายากที่อยู่ในป่าต้องห้าม ซึ่งอันตรายทีเดียวในโลกพ่อมด เพราะความหายาก และไม่ใช่สิ่งที่พบเจอโดยง่าย ยูนิคอร์น จึงกลายเป็นศัพท์เฉพาะในหมู่ผู้เกี่ยวข้องกับวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งอธิบายถึงปรากฏการณ์ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ตัวอย่างบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในข่ายยูนิคอร์น คงรู้จักกันดีอย่างแอร์บีเอ็นบี (AirBNB), สเปซเอ็กซ์ (SpaceX), แกร็บ (Grab), โก-เจ็ก (Go-Jek) และการีนา (Garena) จากรายชื่อที่ว่ามานี้ กลับไม่มีรายชื่อของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เป็นยูนิคอร์น แม้ทุกองคาพยพในวงการสตาร์ทอัพไทยพยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

...

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับประธาน ธนานาถ ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้งเพจ 365 (Page365) สตาร์ทอัพด้านโซเชียลคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มการจัดการร้านค้าออนไลน์ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าในเฟซบุ๊ก, ไลน์ และอินสตาแกรม

ในหัวข้อ “ยูนิคอร์น” ประธานให้ความเห็นว่า การมีหรือไม่มียูนิคอร์น เป็นเครื่องมือชี้วัด สภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ว่าเอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพหรือไม่

“สตาร์ทอัพยูนิคอร์นในอาเซียนที่เห็นได้ชัดคือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นประเทศที่มีกฎหมายแข็งแรง ส่วนอินโดนีเซีย มีประชากรเยอะ จีดีพีสูง การบริโภคในประเทศเยอะ” ประธานอธิบายต่อไปว่า “ในทางกลับกัน ประเทศไทยไปไม่สุดสักทาง ไทยอาจจะมีพาวเวอร์ในอาเซียน มีพื้นที่ประเทศค่อนข้างใหญ่ มีระบบนิเวศที่เกื้อหนุนการทำสตาร์ทอัพ แต่กฎหมายไม่แข็งแรงเท่าสิงคโปร์ และเสียเปรียบอินโดนีเซียในแง่ของจำนวนประชากร”

“ผมขอวกกลับมาที่เรื่องของกฎหมายนิดนึง” ประธานขออธิบายเสริมในเรื่องนี้ “ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความแข็งแรงทางกฎหมายในระดับพอใช้ แต่ในแง่ของกฎหมายพาณิชย์ยังไปได้ไม่สุด” ซึ่งประธานอธิบายต่อไปว่า ปัญหาของกฎหมายพาณิชย์ที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพตอนนี้ มีด้วยกันสองประเด็น คือ บริษัทไม่สามารถถือหุ้นตัวเองได้ ทีนี้เมื่อบริษัทไม่สามารถถือหุ้นตัวเองได้ ก็จะไม่สามารถจ่ายหุ้นให้พนักงานได้ ซึ่งสำคัญมากในการทำสตาร์ทอัพ

ประเด็นที่สอง การก่อตั้งบริษัทจะต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งสามคน มีสองคนไม่ได้ มีหนึ่งคนก็ไม่ได้ “ถ้าหาไม่ได้ คราวนี้คนทำสตาร์ทอัพก็ต้องไปหาใครสักคนมาช่วยร่วมก่อตั้งให้ครบ 3 คน ซึ่งผมมองว่า มันจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตจากการที่บริษัทมีผู้ร่วมก่อตั้งที่ไม่มีอยู่จริง”

ประธานเสนอว่า “จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คนทำสตาร์ทอัพจะเลี่ยงไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะกฎหมายหนุนส่งเสริมกว่า ผลลัพธ์ที่ได้คือสตาร์ทอัพนั้นเป็นของคนไทย แต่ตัวบริษัทไม่ใช่สัญชาติไทย” ประธานให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า หากเราลองคิดในมุมของนักลงทุน การลงทุนสตาร์ทอัพในประเทศที่มีกฎหมายไม่เข้มแข็ง สตาร์ทอัพมีการไซฟ่อนเงิน นั่นหมายถึงว่า นักลงทุนจะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุน แต่การเลือกจดทะเบียนในประเทศที่มีกฎหมายแข็งแรง ผู้ประกอบจะมีโอกาสเจอนักลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง และเป็นการขยายคอนเน็กชันได้กว้างขวางขึ้น

“เพื่อความแฟร์ ไม่ใช่ว่าการทำสตาร์ทอัพในไทยไม่ดีนะครับ” ประธานกล่าวต่อไป “ในไทยเองมีระบบนิเวศที่ดี มีกลุ่ม Accelerate เยอะ อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงการ Startup Voucher ของ สวทช. สิทธิทางภาษีของสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็ช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้มาก แต่อันนี้เป็นเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องกฎหมายที่มันยังไม่แข็งแรงพอเมื่อเทียบกับต่างประเทศ”

ทีนี้ ถ้าเราอยากจะสร้างสตาร์ทอัพยูนิคอร์น ก็ต้องเริ่มจากการ “โฟกัส” จากตัวผู้ประกอบการเอง นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ยกมาแล้ว

“ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นยูนิคอร์น คือ ต้องมองโลกเป็นตลาด จะเน้นอยู่ที่แค่ประเทศไทยไม่ได้” ขณะเดียวกัน การประกอบการสตาร์ทอัพยิ่งช่วงเวลานี้ทำได้ยาก เพราะมีโอกาสที่จะโดนบริษัทใหญ่ที่ในอดีตเคยเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน ก๊อบปี้ผลิตภัณฑ์ไปได้ง่ายๆ

หรือกรณีที่บริษัทสตาร์ทอัพรายใหญ่ ที่กลายสภาพเป็นซูเปอร์แอป (Super App) กล่าวคือแอปเดียวใช้งานครบทุกวงจร ก็ยิ่งทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่อยู่ยากขึ้น เพราะต้องมาสู้กับบริษัทใหญ่ที่มีสายป่านยาว เงินทุนหนากว่า และอาจทำให้นักลงทุนมองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เพราะบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ จะเอาอะไรไปสู้กับบริษัทเจ้าของซูเปอร์แอปเหล่านั้นได้อย่างไร

...

“สแนปแชตและอินสตาแกรมเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาก ฟีเจอร์สตอรี่ของอินสตาแกรมก็เอามาจากสแนปแชต ทีนี้คนที่ใช้อินสตาแกรมอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องดาวน์โหลดสแนปแชต การโตขึ้นของสแนปแชตก็ยากขึ้น”

“แต่ใช่ว่าจะไม่มีช่องว่าง เพราะที่สุดแล้วมันก็มีแอปพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จทะลุปล้องขึ้นมา เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok)”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประธานอยากนำเสนอ คือ การทำสตาร์ทอัพหลังจากนี้ จำต้องมองไปให้ไกลกว่าปัจจุบัน ประธานอธิบายว่า ทุกวันนี้สตาร์ทอัพที่ปรากฏส่วนใหญ่มันไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นเทคโนโลยีประยุกต์ ถ้าหากสตาร์ทอัพหน้าใหม่ สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ดีปเทค (Deep Tech) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งถ้าทำได้จริงๆ มันจะเป็นยิ่งกว่ายูนิคอร์นแน่นอน

ทั้งนี้ การพัฒนาดีปเทคหรือปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีทุนมหาศาล ใช้เวลาระยะการพัฒนาที่นาน ผิดกับสตาร์ทอัพทั่วไป เมื่อทำไปสักระยะหนึ่ง จะมีตัวเลข มียอดขาย ซึ่งคนทำสตาร์ทอัพ สามารถเอาตัวเลขที่ว่านี้ ไปคุยกับนักลงทุนได้

...

ถึงที่สุดแล้ว ประธาน เชื่อว่าการมียูนิคอร์นเป็นเรื่องดีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่มันจะดีกว่า หากเรามีสตาร์ทอัพ “คุณภาพ” มีผู้ก่อตั้งที่เก่ง สามารถเชื่อมโยงกับกองทุน มีการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรที่มากพอ เมื่อนั้น ผู้ประกอบการก็จะมีโอกาสเป็นยูนิคอร์นได้ในอนาคต