การมาของ AI มีทั้งเสียงวิจารณ์จากฝ่ายที่เป็นห่วงอย่าง Elon Musk และ Bill Gates ว่า AI จะมาคุกคามมนุษย์และอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนอย่าง Mark Zuckerberg และ Eric Schmidt กลับมองว่า AI จะมาช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นแน่นอน ถ้ามองในมิติของหน้าที่การงานที่ใกล้ตัวเราทุกคนแล้วล่ะก็ เราจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างไร หรือจะมีผลกระทบที่ต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง?
วันก่อนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเจเจ เทียนธันย์ ณีศะนันท์ แห่ง Skillsolved.com ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่ผมใช้งานเป็นประจำ ในประเด็นว่าเมื่อ Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานในอนาคต (อันใกล้)? การรุกคืบของ AI ในปัจจุบันนั้น ได้รับเสียงวิจารณ์จากฝ่ายที่เป็นห่วงอย่าง Elon Musk และ Bill Gates ว่า AI จะมาคุกคามมนุษย์และอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนอย่าง Mark Zuckerberg และ Eric Schmidt กลับมองว่า AI จะมาช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นแน่นอน งั้นถ้ามองในมิติของหน้าที่การงานที่ใกล้ตัวเราทุกคนแล้วละก็ ตกลงการมาของ AI จะทำให้พวกเราพลอยเตะฝุ่นกันหมด หรือจะสามารถนอนชิลอยู่บ้านโดยมีหุ่นยนต์ทำงานแทนเรากันแน่?
อาชีพสุดฮิตที่ได้รับการพูดถึงว่า AI จะมาทำให้ตกงานเช่น นักบัญชี, นักวิจัยการตลาด, พนักงานต้อนรับ, และ IT Support ซึ่งผมมองว่าเป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะงานที่จะลำบากเมื่อ AI ครองโลก ก็คืองานที่สินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการ สามารถได้รับการตอบสนองผ่านการคำนวณและแสดงผลจากเครื่องจักรหรือระบบ IT ได้อย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้คน ซึ่งแน่นอน ถ้าคนในอาชีพเหล่านี้เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อ “ทดลองแทนที่ตัวเอง” เพื่อให้มีเวลาว่างมากขึ้นตั้งแต่วันนี้ และนำเวลาว่างเหล่านั้นมาเฟ้นหา “โอกาส” ที่จะมีความเชี่ยวชาญหรือทักษะใดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม “Add Value ที่เครื่องจักรไม่มีวันทำได้” ใส่ลงไปในงานนั้นๆ
...
ในความคิดของผม 3 สิ่งหรือเทคนิคที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่เครื่องจักรไม่มีวันทำได้คือ
1. Human Touch - การสัมผัสซึ่งกันและกัน ถ่ายทอดความรู้สึกให้กันและกัน เป็นสิ่งที่สร้างความสุขและความอบอุ่นให้เกิดขึ้น ดังนั้นหากเราใส่ความรู้สึกอบอุ่นให้กันในการทำงาน เช่น นักบัญชีหรือนักการเงินไม่ใช่เพียงทำบัญชีให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มการทำงานกับผู้บริหารอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจความคิดของผู้บริหารและธุรกิจ เพื่อสามารถทำบัญชีให้ตอบสนองต่อทิศทางธุรกิจมากที่สุด นักวิจัยการตลาดต้องสัมภาษณ์ลูกค้า วิเคราะห์ดูปฏิกิริยาอย่างละเอียด การที่ลูกค้าตอบว่า “ผลิตภัณฑ์ของคุณก็ดีนะ” บางทีไม่ได้แปลว่าเขาชอบผลิตภัณฑ์ของคุณเสมอไปเพราะอาจเป็นการตอบอย่าง “ขอไปที”
2. Relationship & Networking - การทำงานหลายอย่างต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างกันและกัน เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานขาย บริการลูกค้าด้วยความอบอุ่นอยู่เสมอ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พอลูกค้ามาก็เข้าไปดูแลอย่างดี คอยแก้ไขปัญหาและให้ความมั่นใจในผลิตภัณฑ์และบริการของเราโดยตลอด หรือระดับผู้จัดการที่ทำให้ลูกน้องรักและศรัทธา จนตั้งใจทำงานและพร้อมก้าวไปด้วยกัน ยิ่งเป็นงานระดับสูงที่การติดต่อประสานงานต่างๆ ต้องอาศัย “Networking” ที่ทำให้ “แค่ยกหูหากัน ทุกอย่างก็เรียบร้อย” นั้น AI ไม่สามารถทำแทนคนได้แน่นอน
3. Negotiation - การเจรจาต่อรอง ต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการและ “อารมณ์” ของผู้ที่เรากำลังเจรจาด้วย เพื่อสามารถทำการต่อรองได้อย่างถูกต้อง การต่อรองในหลายกรณีไม่ใช่เส้นตรง ไม่มีสมการ เช่น การที่บริษัทหนึ่งจะช่วยทำงานให้อีกบริษัทหนึ่ง บางครั้งทำโครงการให้แบบขาดทุน เพราะไม่ได้สนใจรายได้จากโครงการในวันนี้ แต่คาดหวังรายได้จากโครงการที่ใหญ่กว่าในวันหน้า หรือการเชื่อมโยงกับความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่มีมูลค่ามากกว่า ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถในการคิดหลายๆ มิติ หรือคิดนอกกรอบของมนุษย์
ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถใส่ 3 เทคนิคนี้ลงไปในงานของตนได้ ยิ่งเมื่อเราพัฒนาตนเองจนได้รับตำแหน่งและความรับผิดชอบสูงขึ้น งานของเรายิ่งต้องการ 3 สิ่งนี้มากขึ้น ใครที่กำลังกังวลเรื่องที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือ AI จึงจำเป็นต้องค้นหาจุดเด่นของตนเอง เรียนรู้เพิ่มเติมที่จะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ และข้ามขั้นไปทำสิ่งที่มีมูลค่ามากขึ้นครับ
คอลัมน์ “เศรษฐีคีย์บอร์ด”
คอลัมน์ “เศรษฐีคีย์บอร์ด” โดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ หรือ ดร.เรือบิน www.thuntee.com ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเทคนิคการใช้เทคโนโลยีสำหรับคนทำธุรกิจ งานอิสระ หรือคนที่กำลังหาช่องทางเพิ่มเติมจากงานประจำ เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดทั้งเป็น “ตัวเงิน” และ “ความสุข” หากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องใด สามารถเสนอหรือพูดคุยทาง www.facebook.com/drthuntee กับเขาได้เลย