การประกาศจับมือร่วมกันระหว่างกูเกิล (Google) และซัมซุง (Samsung) ในงาน Google IO 2021 ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าความร่วมมือกันครั้งนี้ พวกเขาต้องการที่จะปั้นสมาร์ทวอตช์ขึ้นมา
กระทั่งในงาน Samsung Unpacked 2021 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราจึงได้เห็น Galaxy Watch4 โดยมีเป้าประสงค์หลักในการต่อสู้กับ Apple Watch ของแอปเปิล
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ Galaxy Watch4 คือการผละออกจากระบบปฏิบัติการ Tizen มาเป็นระบบปฏิบัติการ Wear OS
พร้อมกันนี้ ซัมซุงและกูเกิลได้วางกลยุทธ์ร่วมกัน นั่นคือ การแบ่งโมเดลออกมาเป็นสองรุ่น ได้แก่ Galaxy Watch4 จะทำหน้าที่ชนกับ Apple Watch SE และ Galaxy Watch4 Classic ท้าชนกับ Apple Watch รุ่นหลัก หรือก็คือ Apple Watch Series 6 ในเวลานี้นั่นเอง
การออกแบบ Galaxy Watch4

...
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น Galaxy Watch4 จะเป็นรุ่นที่ถูกดาวน์เกรดความสามารถบางอย่างจาก Galaxy Watch4 Classic โดย Galaxy Watch4 จะมีการออกแบบที่ดูเรียบง่าย มีความมินิมอล แต่ไม่หรูหรามากนัก วัสดุประกอบงานเป็นอะลูมิเนียม สายนาฬิกาเป็นสายยางซิลิโคน และดูมีความแข็งแรงประมาณหนึ่ง
ลักษณะของหน้าปัดเป็นแบบทรงกลม การแสดงผลของจอเป็น Super AMOLED บริเวณขอบของนาฬิกา สามารถใช้นิ้วเลื่อนไปยังเมนูต่างๆ ของนาฬิกาได้

ทางด้านปุ่มการใช้งานของ Galaxy Watch4 แบบฟิสิคอลจะมีด้วยกันสองปุ่ม ด้านบนจะเป็นปุ่ม Power on/off และด้านล่างจะเป็นปุ่ม Back โดยทั้งสองปุ่มจะวางตัวอยู่บริเวณด้านขวาของหน้าปัดนาฬิกา

ด้านหลังของนาฬิกาก็จะเป็นแหล่งรวมเซนเซอร์ต่างๆ ที่มีใน Galaxy Watch4
เซนเซอร์ด้านสุขภาพ Galaxy Watch4
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาของ Galaxy Watch4 ก็คือเรื่องของเซนเซอร์ Body Composition โดยการใช้งานเซนเซอร์นี้ ก็คือการใช้นิ้วทั้งสองนิ้วแตะไปที่ปุ่ม Power on/off และปุ่ม Back พร้อมกัน เพื่อให้เซนเซอร์ทำงาน
การทำงานของเซนเซอร์จะเริ่มจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าระดับต่ำเข้าร่างกาย เพื่อวัดไขมัน มวลกล้ามเนื้อ น้ำในร่างกาย ข้อดีของการวัด Body Composition ใน Galaxy Watch4 คือใช้เวลาไม่นานเพียงแค่ 15 วินาทีเท่านั้น เราก็จะได้ผลลัพธ์ออกมา

อย่างไรก็ตามในภาพรวมจากที่ใช้งานคิดว่าเซนเซอร์ส่วนนี้ไม่ได้แม่นยำเท่าไรนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการวัดมวลร่างกายจากโรงพยาบาล ความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรจะใช้แค่เป็นส่วนหนึ่งในการอ้างอิงเท่านั้น
ทางด้านเซนเซอร์อื่นๆ ตามที่ซัมซุงระบุเอาไว้ในงาน Galaxy Unpacked 2021 ซัมซุงได้ใส่ 3 in 1 BioActive Sensor วัดได้ทั้ง Optical Heart Rate, Electrical Heart และ Bioelectrical Impedance Analysis
ทั้งนี้ การวัด SpO2 ต้องยอมรับว่า Galaxy Watch4 ทำงานได้เร็วกว่า Galaxy Watch3 ค่อนข้างมาก ใช้เวลาเพียง 10 วินาทีก็ได้ค่าตัวเลขเรียบร้อยแล้ว ผิดกับ Galaxy Watch3 ต้องใช้เวลาเกือบๆ ครึ่งนาทีเลยทีเดียว
...

เซนเซอร์การออกกำลังกายก็รองรับได้มากกว่า 95 รูปแบบ ซึ่งส่วนนี้สามารถปรับเลือกใช้ตามความต้องการ ขณะเดียวกันตัวนาฬิกาสามารถตรวจจับการออกกำลังกายโดยอัตโนมัติได้อีกด้วย เช่น ถ้าเซนเซอร์เห็นว่าคุณมีการเดินต่อเนื่องประมาณ 10 นาที ก็จะเริ่มเข้าสู่การตรวจจับประสิทธิภาพการเดินทันที และจะเป็นเช่นนี้ถ้าหากคุณกำลังวิ่ง หรือว่ายน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ Galaxy Watch4 ยังมีเซนเซอร์ตรวจวัดการกรนระหว่างการนอนในแต่ละคืนอีกด้วย รวมถึงการวัดระดับประสิทธิภาพการนอนว่าเป็นอย่างไร หลับลึกแค่ไหน เป็นต้น โดยการใช้เพื่อให้ผลที่ดีที่สุดจะต้องใส่ Galaxy Watch4 ไว้กับตัว แล้วก็วางมือถือหันด้านที่มีไมโครโฟนให้อยู่ใกล้บริเวณศีรษะ
แบตเตอรี่ Galaxy Watch4
การใช้งานของ Galaxy Watch4 ถ้าหากใช้งานตามปกติ ปิด Always-on ใช้วัด SpO2 บ้างวันละ 2-3 ครั้ง ใช้งานส่วนที่เป็น Body Composition ในภาพรวมแล้ว สามารถใช้งานได้นานประมาณ 30-35 ชั่วโมง ไม่เกินจากนี้ แต่ถ้าเปิดในส่วนที่เป็น Always-on จะใช้งานได้ไม่ครบ 24 ชั่วโมง กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ต้องชาร์จทุกวันนั่นเอง
แน่นอนว่าการที่ต้องชาร์จแทบทุกวัน ก็ถือเป็นข้อเสียของ Galaxy Watch4
...
บทสรุปการใช้งาน Galaxy Watch4

การตั้งราคา Galaxy Watch4 เอาไว้ในราคาเริ่มต้น 7,990 บาท สำหรับรุ่นหน้าปัด 40 มม. และ 44 มม. ราคา 8,990 บาท ถือเป็นการตั้งราคาที่ดีเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นราคาที่พอจะดึงดูดผู้ใช้งานที่อยากได้สมาร์ทวอตช์สักเรือนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ส่วนเซนเซอร์ที่มีความจำเป็นอย่าง SpO2 ทำงานได้เร็วกว่ารุ่นก่อน ถือเป็นข้อดีมากเช่นกัน ขณะที่เซนเซอร์สแกนร่างกายอย่าง Body Composition เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่น่าสนใจไม่น้อยของ Galaxy Watch4 บนความเป็นไปได้ เชื่อว่า รุ่นถัดไปหลังจากนี้ในอนาคต การวัดก็น่าจะมีความแม่นยำมากขึ้น