ประเด็นการกดไลค์ข้อความแล้วอาจโดนหมายเรียก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ยืนยันแล้วว่ากดไลค์เป็นการแสดงสิทธิ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เว้นแต่เรื่องสถาบัน ที่มีความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องเดียวที่กดไลค์แล้วอาจจะผิดกฎหมาย

จากกรณีโลกโซเชียลมีการเเชร์หมายเรียกพยาน เป็นการดำเนินคดีอาญาระหว่าง พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ กับ ร.ต.อ.วัชรินทร์ เบญจทศวรรษ โดยหมายเรียก ส.ต.อ.จักรพงษ์ วงษ์วิจิตร ให้มาพบพนักงานสอบสวน สภ.เมือง จ.ชลบุรี ฐานะพยานคดีดังกล่าว

ทางไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เป็นอดีตกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 และที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ถึงเรื่องการกดไลค์เพื่อแสดงความเห็น ซึ่งนายไพบูลย์ กล่าวว่า การกดไลค์ไม่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยืนยันหลายครั้งแล้วกับปัญหานี้ เพราะว่ากดไลค์เป็นการแสดงสิทธิหรือแสดงความคิดเห็นตามหลักรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้นความผิดเรื่องสถาบัน เป็นความผิดเรื่องมาตรา 112 เรื่องสถาบันเป็นเรื่องเดียวที่กดไลค์อาจจะผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็น  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ล้วนไม่ผิดกฎหมาย

นายไพบูลย์ กล่าวว่า อย่างกรณีถ้าถูกดำเนินคดี เราอาจจะต้องตั้งทนายและหาพยานผู้เชี่ยวชาญ หรือกรรมาธิการที่ร่าง ให้มาช่วยเปิดความในเรื่องที่มาของตัวกฎหมาย หรือไปขอคัดรายงานของกรรมาธิการที่สภา ตอนที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 กับ 2560 ว่าเจตนารมณ์ในการร่างเป็นยังไง เพราะการกดไลค์ปกติเป็นการแสดงความคิดเห็น ให้เพื่อนได้รู้ว่าความรู้สึกเราที่เกี่ยวข้องเป็นยังไง กรณีกดไลค์ก็เหมือนเรายกมือ เพื่อนก็เห็นว่ายกมือ ถ้าการไปตีความว่าการกดไลค์เป็นการทำให้แพร่หลาย การกดร้องไห้หรือว่าหัวเราะก็ผิดหมด กลายเป็นว่ากฎหมายจะไปตีความว่า ข้อความในโซเชียลมีเดียห้ามเราแสดงความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ตรงนี้ไม่ใช่แน่นอน เพราะมันขัดกับเสรีภาพรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการกดไลค์โดยหลักปกติคือไม่ผิดกฎหมาย

...



อย่างไรก็ตาม จากเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การกดไลค์ไม่ผิดกฎหมาย  เป็นการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ผิดกฎหมายตามหลัก  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์.