เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโวย มติ กทช.ขึ้นค่ามือถือ 3 บาท ผลักภาระให้ประชาชน จี้ทบทวน ด้านบอร์ด กทช.แถอ้างค่าโทรใน-นอกเครือข่ายต่างกัน ผิดกฎหมาย ยันไม่เอื้อรายใหญ่ นักวิชาการแนะทางแก้รื้ออัตราไอซี..

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กทช.) มีมติให้ผู้ประกอบการกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คิดค่าบริการโทรเครือข่ายเดียวกัน-ข้ามเครือข่าย (ออนเน็ต-ออฟเน็ต) ในอัตราเพดานสูงสุด 3 บาทเท่ากัน ว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์จากการบริการโทรศัพท์มือถือ เพราะการโทรเข้าหรือโทรออกนอกเครือข่ายนั้นปัจจุบันไม่มีใครเก็บเกิน 3 บาท การที่รัฐไปกำหนดเช่นนั้นจะทำให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งหลายยึดตัวเงินดัง กล่าวเป็นแม่แบบ และอาจจะคิดเรทเดียวที่แพงขึ้น นอกจากนี้ที่สำคัญมติดังกล่าว บอร์ด กทช.ไม่มีการสอบถามจากประชาชนเลย ดังนั้นขอให้ บอร์ด กทช.ทำการพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีๆ คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ น่าจะมีการพิจารณาใหม่ก่อนที่จะประกาศใช้

ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร คณะกรรมการ กทช. อธิบายกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่าการที่ กทช.มีมติดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราการโทรนอกเครือข่ายกับในเครือข่าย จะเป็นคนละอัตราไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าให้เป็นอัตราเดียวกัน ส่วนโปรโมชั่นอื่นก็เป็นไปตามปกติ เท่าที่ทราบมีโปรโมชั่นอยู่ประเภทหนึ่ง ที่คิดราคาค่าโทรในเครือข่ายกับข้ามเครือข่ายไม่เท่ากัน อันนี้เป็นลักษณะที่ผิดกฎหมาย การที่อัตราบริการประเภทเดียวกันต้องคิดราคาเดียวกัน เพราะเราป้องกันไม่ให้เกิดการดราฟราคากันเกิดขึ้น

"ตลาดตรงนี้ถือว่า แข่งขันกันสูงมาก มีหลายผู้ให้บริการต้องแข่งกันเอง นาทีแถมนาทีก็ไม่มีใครว่าอะไร เชื่อว่าประชาชนได้ประโยชน์แน่นอน คิดว่าไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้รายใหญ่ แต่จะเป็นการป้องกันไม่ให้รายใหญ่เขาดราฟราคา ต้องทำให้ไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่คุณไม่ทำผิดกฎหมายคุณจะโปรโมชั่นยังไงก็ได้ไม่มีใครว่า" นายสุรนันท์ กล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโทรให้เท่ากันมีความเสี่ยงกับการที่ว่า คือ อย่างน้อยเป็นอัตราขั้นสูงไม่ได้อัตราตายตัว ยังดีอยู่ แต่ว่ามีความเสี่ยงหากอัตราที่รัฐเข้ามากำหนดนั้นสูงเกินไป จะเป็นอัตราอ้างอิงให้เอกชนมาสมทบกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายออกมาพูดว่าจะทำให้อัตรารายได้เพิ่มขึ้น ยิ่งฟังก็ยิ่งตกใจ สาเหตุที่ทำให้อัตราในโครงข่ายกับนอกโครงข่ายแตกต่างกัน เกิดจากการที่ต้นทุนในการเชื่อมโยงเครือข่าย หรือ ตัวไอซี อยู่สูงเกินไป จะทำให้ราคาออกมาต่างกัน ดังนั้นที่ถูกหลักวิชาและควรจะทำก็คือ ควรควบคุมที่ตัวไอซีให้สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ใช่มาคุมที่อัตราปลายทาง เช่น ไอซี คุมอยู่ที่ 0.25 บาท ที่เป็นระดับที่เชื่อกันว่าเป็นต้นทุนจริงๆ อัตราโทรออกนอกโครงข่ายจะลดเข้าหาเท่ากับอัตราโทรในเครือข่าย แต่หากทำลักษณะข้างต้นจะทำให้อัตราโทรในเครือข่ายวิ่งหาอัตรานอกเครือข่ายสูงขึ้น

"เป็นสัญญาณเหมือนกับ กทช.มาตั้งวงให้ทั้ง 3 หน่วยงาน 3 บริษัท มาร่วมกำหนดราคา สมคบกันในราคาอย่างนี้ ทำให้มีความเสี่ยง แต่ไม่ได้ฟันธงว่ามันจะเกิดขึ้น แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะบริโภคของแพงขึ้น มีความเสีี่ยงที่จะถูกเก็บค่าบริการแพงขึ้น วิธีที่ถูกต้องคุมไอซี ไม่ใช่คุมราคาตัวนี้ ราคาค่าบริการจะลดลงมาเอง ราคา 3 บาทนั้นถือว่าสูง เพราะทุกวันนี้โทรข้ามเครือข่ายไม่มีใครเก็บ 3 บาท" ดร.สมเกียรติ กล่าว

สำหรับอัตราค่าโทรนอกและในเครือข่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการรายหลักของประเทศไทย

บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด  (มหาชน) หรือ ดีเทค

ชื่อ โปรโมชั่น นาทีละ 25 สต.นาทีแรก 2 บาท โทร ในเครือข่าย นาทีละ 25 สต. นาทีแรก 2 บาท คิดเป็นนาที โทรนอกเครือข่าย นาทีละ 1.25 บาท คิดเป็นนาที


* สมัครใช้บริการภายใน 31 พ.ค. 53 ใช้สิทธิได้ถึง 31 ม.ค. 54 หลังจากวันที่ 31 ม.ค. 54 คิดค่าโทรนาทีแรก 2 บาท ต่อไปนาทีละ 1 บาท คิดเป็นนาที ทุกเครือข่าย ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้สิทธิได้ถึง 31 มี.ค. 54


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

ชื่อ โปรโมชั่น โทรในเครือข่าย นาทีละ 50สต.นาทีแรก 3 บาท โทรในเครือข่ายนาทีละ 50 สต. นาทีแรก 3 บาท โทรนอกเครือข่ายนาทีละ 1.20 บาท

บริษัท ทรูมูฟ จำกัด

ชื่อโปรโมชั่น โทรสุดคุ้มนาทีละ 25 สต.ตลอด 24 ชม. โทรหาทรูมูฟ นาทีละ 25สต.2นาทีแรกนาทีละ 1 บาท โทรหาเครือข่ายอื่นนาทีละ 1.25 บาท

...