รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผ่านคำบอกเล่าของผู้เคยถวายงานใกล้ชิดในการพัฒนาสายอากาศเพื่อวิทยุสื่อสาร...
หลายคนอาจรู้จักชื่อ "รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์" ในฐานะอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ไอน์สไตน์เมืองไทย หรือแม้แต่ในฐานะคนไทยที่เคยเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมงานด้านวิศวกรรมออกแบบด้านอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารสำหรับจรวดชั้นบรรยากาศและดาวเทียมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา)
แต่มีกี่คนที่รู้ว่าชายวัย 77 ปี ที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มภายใต้บุคลิกสุภาพถ่อมตนผู้นี้ จะเป็นผู้ที่เคยถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มานานถึง 46 ปี
ถือเป็นโอกาสพิเศษเกินบรรยาย เมื่อ "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ บุคคลผู้มีความสำคัญต่อประเทศไทยในสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเนิ่นนานแต่ยังคงชัดเจนในความทรงจำ ถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยของพระองค์ ตลอดจนวิธีที่ใช้ทรงงาน ทรงสอนงาน และพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ร่วมปฏิบัติงาน ด้วยพระเมตตาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้...
"ผ่านมา 46 ปีแล้ว ที่ผมมีโอกาสรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่าน" รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ บอกกับเราเป็นประโยคแรก และเริ่มต้นเล่าถึงความเป็นมาเมื่อครั้งที่ชายหนุ่มผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมได้เข้าถวายงานเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของคนไทย ว่า
...
"จุดเริ่มต้นคือ หลังจากเรียนจบปริญญาเอกและทำงานอยู่ในต่างประเทศสักระยะก็ได้กลับเมืองไทย ผมกลับมาดำรงตำแหน่งนายช่างตรีประจำกรมการบินพาณิชย์ โดยช่วงนั้นได้รับการติดต่อจากกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ให้เป็นที่ปรึกษาด้านระบบโทรคมนาคมและระบบตรวจจับสิ่งแปลกปลอมไปพร้อมกัน จนวันหนึ่งก็ได้รับความเมตตาจากข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมอบหมายงานให้คิดค้นสายอากาศวิทยุที่สามารถรับ-ส่งสัญญาณระยะไกล และเมื่อพัฒนาจนเสร็จก็ได้ส่งมอบให้ท่าน พร้อมกับปรับปรุงอยู่หลายครั้ง กระทั่งวันหนึ่งในปี 2513 ก็ได้รับคำสั่งว่าให้เตรียมตัวเข้าวังสวนจิตรลดา (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ด้วยกัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่คิดไม่ฝันว่ากำลังจะได้พบกับพระองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยระยะห่างไม่ถึงเมตร"
ทำงาน...โดยไม่รู้ว่าพระองค์ทอดพระเนตรอยู่ด้านหลัง
ผมจำได้ว่าเข้าไปถึงวังสวนจิตรลดาในช่วงเที่ยง หลังจากรับประทานมื้อกลางวันก็เริ่มงานทันที โดยขณะนั้นผมกำลังยืนควบคุมผู้ร่วมงานให้ปีนขึ้นเสาส่งสัญญาณที่ติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารและทำงานอย่างเร่งด่วนเนื่องจากไม่อยากปฏิบัติงานในเขตพระราชฐานด้วยเวลานาน แต่อยู่ๆ ผู้ร่วมงานกลับรีบปีนลงมาจากเสาและหันมองมาทางผมอยู่บ่อยครั้ง แม้จะตะโกนห้ามไม่ให้ปีนลงมา และบอกว่าจะส่งเครื่องมือขึ้นไปให้ด้วยการชักรอก เขาก็ยังคงปีนลงมาจนถึงพื้นราบ บอกตามตรงว่าผมไม่รู้ตัวสักนิดว่านาทีนั้นในหลวงทรงประทับยืนอยู่ด้านหลังของผมห่างออกไปไม่ถึง 1 เมตร ซึ่งในครั้งแรกผมจำได้ดีว่าหันไปมองด้านหลังและพบว่ามีใครบางคนอยู่เบื้องหลัง และคิดได้เพียงว่าท่านมีลักษณะคล้ายกับผู้ที่เราคุ้นเคย แต่ด้วยในครั้งแรกผมยังนึกไม่ถึงว่าผมจะมีโอกาสได้พบพ่อของแผ่นดินในระยะใกล้เช่นนั้น จนระลึกขึ้นได้ในเวลาต่อมาว่านั่นคือในหลวงของคนไทย...ผมก็รีบคุกเข่าลงเบื้องหน้าพระองค์ทันที ซึ่งพระองค์ไม่ได้ตรัสอะไร เพียงแต่ทอดพระเนตรผมด้วยแววตานิ่งเฉยที่ผมยังคงจำได้ดีจนทุกวันนี้
"เมื่อตั้งสติได้ ผมตกใจและยอมรับว่ากลัวมาก เนื่องจากเราได้หันไปมองพระองค์ในครั้งแรกโดยไม่ได้แสดงความเคารพ แต่กลับทอดพระเนตรผมด้วยแววพระเนตรปกติ เรียบเฉยและไม่ได้ตรัสตำหนิผมแม้แต่คำเดียว และเมื่อผมนั่งคุกเข่าลงก็ทรงนั่งลงเช่นเดียวกัน ตอนนั้นผมคิดได้เพียงว่าเราเป็นประชาชนจะนั่งเสมอองค์กษัตริย์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนท่านั่งเป็นพับเพียบ แต่คุณเชื่อไหมว่า ท่านกลับเปลี่ยนพระอิริยาบถนั่งพับเพียบเช่นเดียวกัน และสถานที่ตอนนั้น คือดาดฟ้าของอาคาร ซึ่งเป็นพื้นปูนร้อนจัดในเวลาบ่าย 3 โมง ขณะที่ผมนั่งลงนั้นรู้สึกร้อนจนเรียกว่าตาตุ่มแทบไหม้ พระองค์กลับทรงนั่งด้วยท่าทางเรียบง่าย สงบ ไม่แสดงความร้อนหรือลำบากพระองค์เลยแม้แต่น้อย และทรงซักถามเกี่ยวกับงานสายอากาศเพื่อวิทยุสื่อสารอยู่นาน ตั้งแต่บ่าย 3 โมง จนถึง 1 ทุ่ม"
"งานที่ทำมาให้นี้ ฉันไม่รับ"
รศ.ดร.สุธี เล่าต่อไปว่า ประโยคแรกพระองค์ตรัสว่า “งานที่ทำมาให้นี้ ฉันไม่รับ” นั่นเป็นประโยคที่ผมคิดว่ายากกว่าการเรียนปริญญาเอกเสียอีก สถานการณ์ตอนนั้นเหมือนนักเรียนส่งการบ้านคุณครูแล้วกำลังถูกดุ ใจผมคิดเพียงว่าเราทำอะไรผิดพลาดไปหรือไม่ พระองค์จะกริ้วหรือเปล่า แต่พระองค์ก็ตรัสเพียงเท่านั้น...ผมจึงตัดสินใจถามพระองค์ไปตามความสงสัยว่าผลงานนั้นผิดพลาดอย่างไร และพระองค์ทรงต้องการสายอากาศเพื่อใช้ประโยชน์ประเภทใด โดยผมมีความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จึงได้รีบหยิบกระดาษและปากกาหมึกซึมที่มีติดตัวออกมาจดรายละเอียดตามที่ในหลวงตรัส ซึ่งพระองค์ตรัสถึงคุณสมบัติของสายอากาศที่ทรงต้องการโดยมีรายละเอียดมากถึง 21 ข้อ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแรมปี ผมเพิ่งเข้าใจว่าประโยคแรกที่ตรัสนั้น พระองค์ทรงกำลังบอกผมเป็นนัยว่าผมทำผิดจากพระราชประสงค์ที่ทรงต้องการ จึงทรงไม่รับผลงานนั้นเพื่อให้ผมได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์ก่อน โดยที่ไม่ได้ทรงตำหนิที่เราทำไม่ตรงตามพระราชประสงค์เลยสักนิด
ทรงโปรดให้ประดิษฐ์เอง ไม่ต้องซื้อหา...
ทุกงานที่ทำถวาย ในหลวงโปรดให้เราประดิษฐ์หรือดัดแปลงขึ้นเอง ประกอบหลายๆ ครั้งทรงมีรับสั่งถึงสิ่งต่างๆ ที่ทรงต้องการมอบหมายในช่วงค่ำหรือดึกอยู่หลายครั้ง นั่นแสดงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานตลอดเวลา แม้จะดึกดื่นเพียงใด ก็ยังทรงคิดค้นและวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ให้ประชาชนไทยเสมอ ทั้งยังตรัสว่าทุกผลงานนั้นขอให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเพียง 1% แม้ว่ามาตรฐานสากลจะระบุว่าสามารถผิดพลาดได้ 10% ก็ตาม
ความสำคัญของวิทยุสื่อสาร เป็นที่มา "สุธี 1"
เนื่องจากอดีต ระบบการติดต่อสื่อสารนั้นทำได้ยากลำบาก สิ่งเดียวที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ในถิ่นทุรกันดารทั้งตำรวจตระเวนชายแดนและทหาร ในหลวงจึงทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายอากาศรับ-ส่งสัญญาณวิทยุอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้สามารถรับ-ส่งสัญญาณในระยะไกล อำนวยความสะดวกในการสื่อสารเพื่อภารกิจช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกล
จากปี 2513 ที่ได้เริ่มพัฒนาสายอากาศวิทยุสื่อสารถวายแด่พระองค์นั้น ก็ได้มีการปรับแก้อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2516 และได้กลายเป็นสายอากาศแบบแรกที่พระองค์พระราชทานนามในภายหลังว่า สุธี 1
...
มีรับสั่งถึง สุธี 2 ว่า "แจ๋วมาก"
หลังจากพัฒนาสายอากาศ สุธี 1 ได้ไม่นานนัก ผมจำได้แม่นว่าเป็นวันที่ 16 ธ.ค.2516 ในหลวงมีรับสั่งว่าหากวิทยุสื่อสารของพระองค์สามารถติดต่อจากกรุงเทพฯ (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ (จังหวัดเชียงใหม่) ก็จะดีมาก พร้อมกับแย้มพระสรวลเล็กน้อย
"นั่นถือเป็นโจทย์ที่ 2 จากในหลวง ซึ่งบอกตามตรงว่าทำให้ผมรู้สึกขนลุกมาก ทั้งกลัว ทั้งไม่แน่ใจ เพราะโจทย์ดังกล่าวเป็นการสร้างสายอากาศเพื่อรองรับวิทยุสื่อสารทางไกลระยะทางถึง 600 กิโลเมตร เรียกว่าไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยหรือในโลกก็ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่สำหรับยุคนั้น ซึ่งผมแอบคิดอยู่ในใจว่าอาจต้องใช้เวลาคิดและพัฒนาไม่ต่ำกว่า 2 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่พระองค์ตรัสว่า "ปีนี้น้ำมันแพง ฉันจะขับรถไปเชียงใหม่เองจะได้หาทางประหยัดน้ำมัน ระหว่างทางก็จะได้ทดลองไปด้วย และฉันจะไปให้ถึงเชียงใหม่ในวันที่ 2 ม.ค.2517" ได้ยินแค่นั้นผมยังจำได้ว่าตกใจมากแค่ไหน เพราะเท่ากับมีระยะเวลาทำงานถวายพระองค์เพียง 2 สัปดาห์"
เมื่อรับโจทย์มาจากพระองค์แล้ว ผมก็พยายามทุกวิถีทางให้มีผลงานพร้อมถวายภายในกำหนดเวลาที่มี ยังจำได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นระยะ 2 สัปดาห์ที่กินนอนน้อยที่สุดในชีวิต เพราะต้องจัดทำสายอากาศ สุธี 2 ถึง 2 ชุดด้วยกัน ชุดหนึ่งสำหรับติดตั้งที่กรุงเทพฯ อีกชุดหนึ่งต้องติดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากทำเสร็จก็ต้องรีบนำไปติดตั้งและเดินทางล่วงหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตั้งอีกชุด โดยมีตำรวจตระเวนชายแดนมารับผมเพื่อเดินทางไปดำเนินการในทันที แต่ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อถึงกำหนดแปรพระราชฐานก็ได้ทราบความจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าในหลวงทรงทดลองใช้งานโดยตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ และตรัสเมื่อแปรพระราชฐานถึงเชียงใหม่ว่า "แจ๋วมาก"
"เพราะประชาชน...รอไม่ได้"
ทุกครั้งที่ถวายงานรับใช้พระองค์ ทรงไม่เคยตรัสถึงกำหนดเสร็จสิ้นที่ต้องถวายผลงานแม้แต่ครั้งเดียว แต่จะทรงบอกเป็นนัยด้วยวิธีอื่น เช่นที่มีรับสั่งถึงกำหนดการแปรพระราชฐานสู่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งประโยคที่ทำให้ผมจำและพร้อมรับใช้พระองค์ทุกเวลา ก็คือ "เพราะประชาชน รอไม่ได้" และตรัสว่าความเดือดร้อนของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ โดยเฉพาะในอดีตที่การเดินทางยังลำบากและการสื่อสารเป็นเรื่องยาก
สายอากาศ สุธี 3 และ 4
หลังพัฒนาสายอากาศ สุธี 1 และ 2 แล้ว จากนั้นก็ยังได้รับโจทย์พัฒนาการสื่อสารด้วยวิทยุทางไกลจากในหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยโปรดให้มีระบบการสื่อสารจากวังสวนจิตรลดา ไปยังจังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ และพิษณุโลก ซึ่งทรงเลือกปลายทางเป็นจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคของประเทศไทย หลังจากสามารถสื่อสารจากกรุงเทพฯ ไปยังเชียงใหม่ได้แล้ว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สามารถวิทยุสื่อสารติดต่อไปยังปลายทางเหล่านั้นได้แบบพร้อมกัน ซึ่งครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 20 วัน จึงแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2517 และกลายเป็นสายอากาศ สุธี 3 ในเวลาต่อมา
ส่วนสายอากาศ สุธี 4 นั้น มาจากมีรับสั่งว่าต้องการสายอากาศสำหรับวิทยุสื่อสารที่สามารถลดผลกระทบจากสภาพอากาศได้ คือ สามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้แบบไม่ขาดช่วง ไม่มีการจางหายของสัญญาณ ซึ่งทำได้สำเร็จในช่วง มี.ค.ของปีเดียวกัน และติดตั้งใช้งานอยู่ที่กรุงเทพฯ และประจวบคีรีขันธ์
จากนั้นในวันที่ 29 มี.ค.2517 พระองค์มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ ณ กรุงเทพฯ และเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับสายอากาศ สุธี 1-4 โดยโปรดให้ระบุชื่อผมลงไปในชื่อผู้ออกแบบและระบุว่า "ทรงทดลองได้ผลดีแล้ว"
มีพร้อมทั้งพระปรีชาและพระอารมณ์ขัน
นอกจากนี้ สายอากาศ สุธี 1-4 โปรดให้มีสายอากาศประเภทที่สามารถรองรับการใช้งานในป่าลึกได้ดีและใช้งานง่าย เพื่อประโยชน์ของตำรวจตระเวนชายแดนและทหารในการปฏิบัติภารกิจและดูแลประชาชน โดยมีรับสั่งถึงโจทย์ดังกล่าวในตอนกลางคืนและตรัสว่า "เดี๋ยวเจอกันตอนเช้า" เท่ากับว่ามีระยะเวลาในการดำเนินงานเพียง 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น และเมื่อนำผลงานมาถวายในช่วงเช้า...ทันทีที่เห็นก็ตรัสว่า "เหมือนไส้กรอก" และพระราชทานนามเรียกในทันทีว่าไส้กรอกหลวง พร้อมตรัสว่า Royal Sausage (รอยัล ซอจเซจ มีความหมายตรงตัวว่า ไส้กรอกหลวง)
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ยังเล่าอีกว่า ในหลวงทรงไม่ได้ใส่พระราชหฤทัยเพียงสายอากาศระบบติดต่อสื่อสาร แต่ยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับกิจการงานเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดาวเทียม วิทยุกระจายเสียง วิทยุเคลื่อนที่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในกิจการต่างๆ อีกด้วย
"นอกจากการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ พระองค์ถือเป็นผู้ที่ทรงทำงานหนักเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังทำให้เราได้เรียนรู้ว่าสามารถทำสิ่งต่างๆ แม้ไม่ใช่หน้าที่ แต่เพื่อสร้างประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขณะเดียวกัน ก็ควรยึดถือความเรียบง่ายตามแบบอย่างที่ทรงปฏิบัติให้ประจักษ์เห็นแล้ว และสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมคนไทยในปัจจุบันคิดเองทำเองให้มากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น".
...