สพธอ. หรือ ETDA เผยข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยปี 2558 พบมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาท รายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจ เร่งปั้นพฤติกรรมซื้อขายออนไลน์คนไทย หวังใช้เน็ตเพื่อธุรกรรมออนไลน์สูงกว่าเล่นโซเชียล…

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) เปิดเผยว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จาก 3 ปัจจัย คือ เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาทิ บริการพร้อมเพย์ การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ถือเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซ และทำให้ผู้บริโภคสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา

"ปัจจุบันการใช้งานอีคอมเมิร์ซของคนไทยยังคงเป็นพฤติกรรมอันดับที่ 8-15 ของการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นรองการใช้งานโซเชียลมีเดีย การค้นหาข้อมูล และรับชมความบันเทิงผ่านออนไลน์ ทำให้ สพธอ.ตั้งเป้าพัฒนาให้การใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้นจนเป็น 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิตบนอินเทอร์เน็ตของคนไทย"

ทั้งนี้ สพธอ. ได้ทำการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย จากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศราว 527,324 ราย ซึ่งเป็นทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการประกันภัย อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่นๆ

โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปี 2558 อยู่ที่ 2,245,147 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.47% ของมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมด โดยแบ่งเป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B ประมาณ 1,334,809 ล้านบาท (59.45%) ประเภท B2C ราว 509,998 ล้านบาท (22.72%) และประเภท B2G ราว 400,339 ล้านบาท (17.83%) โดยหากไม่รวมมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ (e-Auction) จะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 559,697 ล้านบาท (30.21%), อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง 536,725 ล้านบาท (28.97%), อุตสาหกรรมการผลิต 428,736 ล้านบาท (23.14%) นอกจากนี้ อุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสารมีมูลค่า 232,721 ล้านบาท (12.56%), อุตสาหกรรมการขนส่ง (3.46%) อุตสาหกรรมบริการด้านอื่นๆ (1.03%) อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ (0.51%) ส่วนอุตสาหกรรมการประกันภัยนั้นมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุด (0.11%)

ส่วนการคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2559 เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีมูลค่าถึง 2,523,994 ล้านบาท หรือเติบโตราว 12.42% จากปี 2558 หรือคิดเป็นมูลค่า 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ประกอบการยังต้องการให้มีการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างเท่าเทียม รวมถึงนโยบายส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น และพัฒนาคุณภาพศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สพธอ.ยังเตรียมจัดงาน "ไทยแลนด์ อีคอมเมิร์ซ วีค" (Thailand e-Commerce Week) เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องอีคอมเมิร์ซแก่ผู้ที่สนใจ ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งคาดว่างานดังกล่าวจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 2,000 คน จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ และผู้สนใจ.

...