เปิดมุมมองผู้บริหารรายใหม่ของดีแทค "สิทธิโชค นพชินบุตร" กับภารกิจปั้นแบรนด์ด้วย 3 กลยุทธ์ ภายใต้ความท้าทายในธุรกิจโทรคมนาคม พร้อมตั้งเป้าให้ดีแทคดีกว่าเดิม…
หลังจากมีการปรับทัพผู้บริหารใน "ดีแทค" เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการแต่งตั้ง "นายสิทธิโชค นพชินบุตร" ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ล่าสุดได้มีการจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากนายสิทธิโชคได้เข้ารับตำแหน่งได้ 50 วัน เพื่อทำความเข้าใจถึงเป้าหมาย ทิศทาง และการบริหารงานของนายสิทธิโชคในฐานะ CMO คนไทยของดีแทค ต่อจากผู้บริหารโลโก้ดีแทค คนเก่าอย่าง "นายธนา เธียรอัจฉริยะ"
นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) มีการแข่งขันรุนแรง แต่ดีแทคยังคงลงทุนขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องแม้จะเหลือระยะเวลาสัมปทานถึงปี 2561 เนื่องจากการลงทุนในเครือข่ายนั้นเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ในการให้บริการแก่ลูกค้าซึ่งต้องสมบูรณ์ แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ดีแทคจะมีสัดส่วนผู้ใช้บริการด้านเสียงลดลง ขณะที่ผู้ใช้บริการข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิม 58% ในไตรมาสที่ 1 และมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 65% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการ 4จี ในปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.9 ล้านเลขหมาย โดยบริษัทตั้งเป้าลูกค้า 4จี เป็น 6 ล้านเลขหมายภายในสิ้นปีนี้
ปรับเป้าหมาย...สร้างความชัดเจนในแบรนด์
นายสิทธิโชค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาดีแทคมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่เราอาจไม่ได้ทำในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของดีแทคแต่เป็นการทำในเรื่องที่คล้ายกับคู่แข่ง สิ่งที่จะเน้นนอกจากการพัฒนาเครือข่าย คือ 1. แบรนด์และดีเอ็นเอ ในการสร้างให้ดีแทคกลับมาเป็นแบรนด์ที่คนรัก การเป็นแบรนด์คนดี มีอารมณ์ดี มีน้ำใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แฟนดีแทคชื่นชอบและการเป็นองค์กรที่โปร่งใส 2. ดิจิตอลเซอร์วิสสำหรับทุกคน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าในทุกกลุ่ม 3. สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง
"เราพยายามทำให้ดีแทคดีขึ้นทุกวัน อีโมชันแนลยังคงเป็นธีมหลักของแบรนด์ เราเชื่อว่าอีโมชันแนลและโปรดักส์จะต้องไปด้วยกัน ดีแทคยังมีลูกค้ากว่า 20 ล้านคน ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่ง แม้ว่าผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาจะลดลงแต่ก็มีการทำความเข้าใจกับพนักงานแล้วและเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ รวมถึงทิศทางการให้บริการตั้งแต่หลังประมูล 4จี ก็มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ส่วนผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 นั้น เรายืนยันว่าจะยังทำทุกอย่างที่ต้องทำ เพื่อต่อสู้ในธุรกิจ"
...
เล่นตามเกมธุรกิจ...!
ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ดีแทคก็มีการปรับกลยุทธ์เช่นเดียวกับแบรนด์คู่แข่งที่มีการแจกเครื่องฟรี โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าดีแทคและขยายไปยังลูกค้าต่างเครือข่ายด้วย อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ใช่แนวทางที่ดีแทคถนัด แต่จากนี้เราพยายามสร้างความแตกต่างในการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า โดยในปีนี้มีการใช้งบประมาณเพื่อทำตลาดราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% จากปีที่ผ่านมา
"จุดยืนของดีแทค คือ การมีดีเอ็นเอที่ชัดเจนและแตกต่างจากแบรนด์อื่น นอกจากการมุ่งนำเสนอเรื่องความเร็วในการให้บริการ 4จี แต่ดีแทคเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้า ทิศทางอีกด้านของดีแทคคือการเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการดิจิตอล (ดิจิตอลโพรวายเดอร์) ภายในปี 2563 อยากให้ทุกคนคิดถึงดีแทคเป็นแบรนด์แรก และอยากให้มองภาพของดีแทคในระยะยาวด้านการปรับเปลี่ยนการใช้งานของลูกค้า เพราะบริษัทมองว่าจะเปลี่ยนตลาดและก้าวขึ้นสู่เบอร์ 1 ได้อย่างไร มากกว่าการรักษาฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายอันดับที่ 2 ของประเทศ ขณะนี้เราใส่ใจเพียงว่ากิจกรรมอะไรที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและหันมาเลือกดีแทค เราเชื่อว่าดีแทคยังดีได้กว่านี้"
4จี ไม่กระตุ้นให้คนเปลี่ยนมือถือเร็วขึ้น!
สำหรับบริการ 4จี ดีแทคได้เพิ่มความกว้างแบนด์วิธบนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 20 เมกะเฮิรตซ์ และขยายบริการซูเปอร์ 4จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 15 เมกะเฮิรตซ์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อทำให้ดีแทคสามารถขยายโครงข่าย 4จี 2100 เมกะเฮิรตซ์ ได้ทุกอำเภอทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ส่วนการเปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยี 4จี นั้น อาจเป็นเพราะผู้บริโภคยังพึงพอใจกับความเร็วของ 3จี และยังไม่ต้องการเปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยี ทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องนานขึ้นจากเดิม 14 เดือน เป็น 18-20 เดือน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทปรับลดเป้าหมายลูกค้า 4จี จากเดิม 10 ล้านเลขหมาย เป็น 6 ล้านเลขหมายภายในสิ้นปีนี้
มั่นใจรัฐจัดประมูลคลื่น...
แม้ว่าก่อนหน้านี้ดีแทคจะไม่สามารถประมูลคลื่น 4จี ได้เลย แต่ชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการหรือใช้บริการของลูกค้าอย่างแน่นอน เนื่องจากยังคงมีการลงทุนด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนการจัดประมูลครั้งต่อไปนั้น เชื่อว่าการประมูลแต่ละครั้งสามารถรายได้หลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ดีแทคมั่นใจว่ารัฐบาลจะอนุมัติการจัดประมูลอย่างแน่นอน และถือเป็นภารกิจของดีแทคที่จะต้องเตรียมพร้อมในการประมูล หรือจัดหาคลื่นความถี่มาให้เพียงพอต่อการให้บริการแก่ลูกค้าหากไม่สามารถชนะประมูลได้.