ผู้แทนของสมาคมและชมรมด้านไอทีและธุรกิจดิจิทัล 8 สมาคมและ 1 ชมรม ลงนามร่วมกัน เพื่อเป็นเครือข่ายการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ในการสนับสนุน และผลักดัน อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย...

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ผู้แทนของสมาคมและชมรมอันประกอบด้วย สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) (DAAT) สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส (OSEDA) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA) สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (TPA) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (TECA) และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) ได้ร่วมลงนามบันทึกเจตนารมณ์การจัดตั้งสมาพันธ์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Confederation) เพื่อเป็นเครือข่ายการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

การจัดตั้งสมาพันธ์ดิจิทัลไทย มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดังต่อไปนี้
1.จรรโลงไว้ ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยให้สามารถเติบโตและขยายตัวไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.สร้างความมั่นใจว่ากฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเอื้อต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย
3.เสริมสร้างบรรยากาศสังคมอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยให้เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ผู้แทนสมาคมและชมรมที่เข้าร่วมลงนามจัดตั้งสมาพันธ์ดิจิทัลไทย ประกอบด้วย
1. นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)
2. นายศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
3. นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย
4. นายอนันต์ แก้วร่วมวงษ์ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย
5. นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
6. นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
7. นายไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
8. นายอัครวุฒิ ตำราเรียง อุปนายกสมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส
9. นายเมธา สกาวรัตน์ ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

...

นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวถึงที่มาการจัดตั้งสมาพันธ์ดิจิทัลไทยว่า เนื่องจากได้ยินจากหลายๆ ท่านในภาคธุรกิจไอที ซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการออนไลน์ พูดถึงถึงปัญหาต่างๆอาทิ เช่น บุคลากรหายาก, ทักษะไม่ตรงกับที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งปัญหาที่คนทั่วไปพบเจอ เช่น ด้านกฎหมาย, ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.คอมพ์, ภาษีต่างๆ จึงคิดว่าปัญหาเหล่านี้สมาคมใดสมาคมหนึ่งคงไม่สามารถที่จะติดตามได้โดยเฉพาะ ถ้ามองในแง่ธุรกิจ คือ เรากําลังถูกคุกคามจากธุรกิจต่างชาติซึ่งถ้าต่างคนต่างอยู่น่าจะไม่ไหว นอกจากเรื่องธุรกิจยังมีเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ทําคนเดียวไม่ได้ จึงคิดว่าน่าจะมีการรวมตัวสมาพันธ์เพื่อร่วมมือกันทํางานในบางส่วนได้น่าจะเป็นผลพลอยได้ เช่น เรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ได้อีกด้วย

นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินการจัดตั้งแล้ว ผู้แทนจากสมาคมและชมรมจะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและดำเนินกิจกรรมเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้นอย่างน้อย 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง และหากจะมีองค์กรอื่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์ในอนาคต จะต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรที่ร่วมก่อตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ เช่นเดียวกับการยกเลิกสมาพันธ์ก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน.