"มือถือ" กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในยุคปัจจุบัน แต่เชื่อว่ามีหลายคนเวลาเลือกซื้อมือถือใหม่ ยังใช้เกณฑ์ “เขาบอกๆ กันมาว่าดี" ในการตัดสินใจ ก็แหม่! ถ้าเราไม่ได้เป็นคนคลุกคลีกับเทคโนโลยีมากนัก พวกศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับสเปกมันเต็มไปหมด อ่านไปก็งงๆ เอ๊ะ อะไรมันคืออะไร สุดท้ายก็เลยซื้อตามๆ ที่เห็นในโฆษณา แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราอ่านสเปกเองได้ รู้ว่าอะไรคืออะไร อำนาจการตัดสินใจจะได้เกิดจากการประเมินของเราเองจริงๆ ว่าเครื่องนี้ ราคานี้แหละเหมาะกับเรา
วันนี้เฟื่องจะพาไปรู้จักศัพท์เทคนิคที่เราเห็นบ่อยๆให้เข้าใจง่ายกันค่ะ
1. ROM vs RAM สองคำนี้คนสับสนกันเยอะมาก
ROM จำง่ายๆ เหมือน "ซีดีรอม" เป็นหน่วยความจำถาวรของโทรศัพท์ ให้มากับเครื่องเลย เพิ่มทีหลังไม่ได้ แม้จะเรียกกันติดปากว่า ROM หรือ Read-only memory แต่ถ้าจะให้ถูกจริงๆ ควรเรียกว่า "Internal Storage" ที่หมายถึงความจุของหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง มีความจุให้เลือกตั้งแต่ 8GB/ 16GB /32GB/ 64GB/ 128GB ฯลฯ แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อเลย ใช้เก็บข้อมูล เช่น ระบบปฏิบัติการ/Apps/เพลง/รูป/วิดีโอ ฯลฯ
RAM (Random Access Memory) เป็นหน่วยความจำชั่วคราวของโทรศัพท์ ทำหน้าที่เหมือนเป็นสมุดโน้ตคนกลางคอยรับ-ส่ง และเป็นที่พักข้อมูล ระหว่างการใช้งานของเราและ CPU (หน่วยประมวลผล) ยิ่ง RAM เยอะ ยิ่งทำงานได้เร็วขึ้น วิธีจำคือ “แรมเยอะ ก็ยิ่งดี”
...
2. GB vs Gb
GB = กิกะไบต์ "B" ตัวใหญ่ คือ หน่วยวัดความจุ
Gb = กิกะบิต "b" ตัวเล็ก คือ หน่วยวัดความเร็ว ส่วนมากเห็นในรูปของ "gbps" หรือ "mbps" หมายถึงความเร็วในการรับส่งข้อมูลภายใน 1 วินาที (gigabit per second/ megabit per second)
นอกจากนี้ อักษรตัวหน้าก็มีให้เห็นหลากหลาย k/m/g/t เป็นหน่วยวัดนั่นเอง (kilo/ mega/ giga/ tera ไล่เรียงจากน้อยไปมาก)
3. OS ระบบปฏิบัติการ
ตอนนี้เจ้าตลาดหลักๆ ก็มี 2 ค่ายค่ะ คือ "Android OS" ของ Google (มือถือแทบทุกค่ายที่ไม่ใช่ iPhone ใช้ระบบนี้) และ "iOS" ของ Apple
ระบบปฏิบัติการมีผลต่อความรู้สึกในการใช้งาน/ ความปลอดภัย/ การกินพื้นที่ ROM ของเครื่อง (ส่วนมาก Android จะกินพื้นที่ใน ROM ไปประมาณนึง ทำให้เหลือพื้นที่ใช้งานจริงน้อยกว่าที่เขียนไว้ในสเปก)
ถ้าซื้อเพลง/ App ไว้ในระบบปฏิบัติการไหนเยอะแล้ว จะย้ายฝั่งทีต้องคิดหนักหน่อย เพราะของพวกนี้มันย้ายตามเราไปด้วยไม่ได้
4. การเพิ่มหน่วยความจำ (Memory)
ต้องดูด้วยว่ามือถือเครื่องนั้นๆ ใส่ SD Card เพิ่มได้หรือไม่ เพิ่มได้เท่าไร ซึ่งส่วนมาก Smartphone ฝั่ง Android จะทำได้ แต่ iPhone ทำไม่ได้ค่ะ ซึ่งการเลือกซื้อ SD Card นอกจากความจุแล้ว ความเร็วของหน่วยความจำก็สำคัญนะคะ ควรใช้การ์ด class 10 หรือ U1 ขึ้นไปจะทำให้เครื่องทำงานดีขึ้นค่ะ
5. เรื่องของซิมการ์ด
ดูว่าใส่ได้กี่ซิม และดูเรื่องการรองรับเครือข่ายด้วย เพราะส่วนใหญ่แต่ละซิมจะรองรับไม่เท่ากัน เช่น ซิมแรกรองรับ 4G แต่ซิมที่สองรับได้แค่ 2G ไปเลยก็มี
6. กล้อง
ดูความละเอียดกล้องหน้า/กล้องหลัง ถ้าให้แนะนำความคมชัดสัก 8 ล้านพิกเซลขึ้นไปกำลังโอเค แต่อย่าลืมว่าเรื่องจำนวนพิกเซลไม่ใช่ทุกอย่าง ให้ดูตัวอย่างภาพถ่ายจริงด้วย มือถือบางรุ่นถ่ายได้ชัดมาก แต่ไม่สวย เพราะซอฟต์แวร์ประมวลผลไม่ดีก็มี
...
7. แบตเตอรี่
คงไม่มีใครอยากจะแบตหมดบ่อยๆ หรือพกพาวเวอร์แบงก์ตลอดเวลา ความจุแบตก็สำคัญ ซึ่งความจุมีหน่วยเป็น mAh (มิลลิแอมป์) ซึ่งเรารู้กันดีว่าเลข mAh ยิ่งเยอะ ก็ยิ่งเก็บไฟมาก แต่ยิ่งเยอะไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไปนะคะ มันทำให้เครื่องหนา หนัก และชาร์จไฟช้าด้วย แถมแต่ละเครื่องก็กินไฟไม่เท่ากัน ถ้าเป็นไปได้ เราจึงควรดูตัวเลขการใช้งานจริงเป็นชั่วโมงเป็นหลักมากกว่าเทียบด้วย mAh ตรงๆ ค่ะ
นี่แหละค่ะ ศัพท์ยากๆ อ่านให้พอเป็น ก็จะได้รู้ว่าสุดท้าย เราต้องการสเปกมือถือสูงขนาดไหน สอดคล้องกับงบประมาณและการใช้งานของเราหรือเปล่า ไม่ได้ตามกระแส ตามน้ำ สังคมว่ายังไงเราก็ว่าอย่างงั้น เจอกันบทความหน้าค่ะ
IG: @faunglada
twitter : @faunglada
Facebook: www.facebook.com/faunglada
youtube: www.youtube.com/FLDfaunglada