"แจส โมบาย บรอดแบนด์" ผู้เข้าประมูลหน้าใหม่ แต่ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการโทรคมนาคม ชื่อของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ หนึ่งในผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยวงเงินสูงถึง 75,654 ล้านบาท กลายเป็นชื่อที่น่าสนใจเพียงข้ามคืน

หลายคนอาจมองว่า เป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในวงการโทรคมนาคมเมืองไทย แต่ถ้าได้รู้จักแบ็กกราวด์ หรือที่มาที่ไปของบริษัทนี้ดีขึ้น อาจต้องร้อง...อ๋อ เพราะผู้ก่อตั้งไม่ธรรมดา ไทยรัฐออนไลน์พาไปรู้จัก และเจาะลึกแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ว่าพวกเขาเป็นใครกัน. 

1. บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ บริษัทแม่ คือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งโดย นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลทักษิณ ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง อดิศัย เคยเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อในวงการโทรคมนาคม เขาเคยนำพาธุรกิจในเครือชนะการประมูลด้านโทรคมนาคมมานับไม่ถ้วน ยังไม่รวมบริษัท TT&T ที่เคยได้สัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 1.5 ล้านเลขหมายจากทีโอที ปัจจุบัน อดิศัย ก็เป็นสมาชิกหนึ่งใน 111 ที่ถูกศาลตัดสินให้ยุติบทบาททางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้ส่งต่อธุรกิจให้ลูกชายเพียงคนเดียว "พิชญ์ โพธารามิก" ขึ้นมากุมบังเหียนเต็มตัว

...

2. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท และแจ้งประกอบธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ นำเข้าและจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการเช่าและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีนายพิชญ์ โพธารามิก เป็นกรรมการบริษัท, น.ส.สายใจ คีตสิน, นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ และนายยอดชาย อัศวธงชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

3. ภายใต้ร่มเงาของจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ซึ่งพิชญ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ ธุรกิจในมือที่น่าจะเสริมความเข้มแข็งและสร้างแต้มต่อให้กับแจส โมบาย คือ ธุรกิจโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง หรือไฟเบอร์ออปติก

4. นักท่องเน็ต คงรู้จักชื่อนี้ดีเช่นกัน "3BB บรอดแบนด์" เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเครือจัสมิน ที่จะต่อยอดให้กับแจสโมบาย เพราะช่วงแรกของการเปิดบริการค่ายแจส เล็งฐานลูกค้าเดิมของ 3BB จำนวน 2 ล้านรายเอาไว้ เพราะอีกหน่อย แจสคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำในตลาดโมบายอินเทอร์เน็ต

5. ทีวีดิจิตอลช่องโมโน เป็นเจ้าของเดียวกันกับแจสโมบายเช่นกัน เมื่อ 2 ปีก่อน "พิชญ์ โพธารามิก" หอบเงิน 2,250 ล้านบาท ไปประมูลทีวีดิจิตอลจนชนะการประมูล และบริหารจนโมโนติดอันดับเรตติ้งสูง 1 ใน 10 ช่องด้วย ว่ากันว่าในอนาคต เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจะทำให้ผู้คนหันไปดูโทรทัศน์ผ่านมือถือกันมากขึ้น นี่อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่มแต้มต่อให้กับน้องใหม่ แต่หน้าไม่ใหม่ ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ

6. ถามว่าเม็ดเงินมาจากไหน ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล เคยขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ระดมทุนได้ก้อนโต 55,000 ล้านบาท และแจสโมบาย หวังจะนำเงินก้อนนี้มาลงทุนด้วย

7. แบ็กกราวด์ของหนุ่มใหญ่หน้าตาดี "พิชญ์" ที่ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อจัสมินตัวจริง เพิ่งผ่านไปหมาดๆ สำหรับการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นเมืองไทย "พิชญ์" ติดอันดับ 9 ทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยปี 2557 ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 16,560 ล้านบาท ด้วยอายุเพียง 42 ปี

8. ธุรกิจที่ "พิชญ์" ต้องเข้ามาสานต่อ ได้แก่ บมจ.จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนลให้บริการด้านเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจร ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บนดิน บนฟ้า หรือใต้น้ำ, บริษัท จัสเทล เน็ตเวิร์ค จำกัด (JasTel) ได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศ และระหว่างประเทศ และบริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด ให้บริการวงจรเชื่อมต่อความเร็วสูงโดยใช้เทคโนโลยี เอดีเอสแอล (ADSL) ซึ่งสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi–Speed Internet) หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (Broadband Internet) ผ่านคู่สายโทรศัพท์ธรรมดา โดยใช้ชื่อบริการว่า "3BB"

...

9. "พิชญ์" ไม่ได้รับผิดชอบธุรกิจกลุ่มจัสมินเพียงอย่างเดียว "พิชญ์" ยังควักกระเป๋าส่วนตัวลงทุนจัดตั้งบริษัท โมโนกรุ๊ปฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลกออนไลน์ เช่น เอ็มไทยดอทคอม, เอนจอย 108, monoplanet, โมโนมิวสิก, โฮเทลไทยแลนด์ดอทคอม และนิตยสาร Gossip star เป็นนิตยสารบันเทิงที่มียอดขายสูงสุดในห้วงเวลานี้

10. เมื่อพลิกดูประวัติของ "พิชญ์" จบการศึกษาระดับปริญญาตรี Science London School of Economics, England และในปี 2540 ก่อตั้งบริษัท โมโนเจนเนอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับบันเทิง หลังจากนั้นได้เข้ามาร่วมงานในกลุ่มจัสมิน โดยนั่งตำแหน่งกรรมการ บริษัท อคิวเม้นท์ จำกัด นับตั้งแต่นั้นจนถึงปี 2551 เขาถูกโปรโมตให้นั่งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมินอย่างเป็นทางการ.