เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่อยากหันมาประกอบอาชีพเสริมขายของผ่านเน็ตตามสมัยนิยม เพื่อนนี้มีธุรกิจขายสินค้าอยู่แล้ว แต่เดิมทีขายเฉพาะช่องทางออฟไลน์ ทีนี้อยากหันมาขายออนไลน์ดูบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรจึงโทรมาปรึกษา

ผมคิดว่าคำถามนี้น่าสนใจ และน่าจะมีคนสงสัยกันไม่น้อย ในฐานะที่ไม่เคยขายของออนไลน์โดยตรงแต่อยู่กับวงการออนไลน์มานาน ผมก็ขอลองตอบคำถามดังนี้ครับ
อย่างแรกคือตัวตนบนโลกออนไลน์ของเราต้องมีอะไรบ้าง?

สิ่งแรกที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่นึกถึงย่อมเป็นการเปิดเพจบนเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารข้อมูลของตัวสินค้าออกไป การใช้งานเฟซบุ๊กถือเป็นเรื่องดีเพราะคนไทยแทบทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำย่อมต้องมีเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กอย่างเดียวพอมั้ย คำตอบคือไม่พอ

ข้อดีของการเปิดเพจบนเฟซบุ๊กคือใช้ง่าย แทบไม่ต่างอะไรกับการใช้เฟซบุ๊กผ่านบัญชีปกติ แถมไม่ต้องดูแลอะไรมากเพราะเฟซบุ๊กจัดการให้ทุกอย่าง เรามีหน้าที่ใช้เพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว

ส่วนข้อเสียของเฟซบุ๊กคือโพสต์เก่าตกไว และการค้นหาข้อมูลเก่าๆ ทำได้ยากมาก นอกจากนี้ระบบของเฟซบุ๊กยังไม่ค่อยเป็นมิตรกับกูเกิล ทำให้ลูกค้าขาจรที่มักมาเจอเราผ่านการเสิร์ช อาจไม่ค่อยเจอข้อมูลของเราเท่าที่ควร เสียโอกาสทางธุรกิจไป

ข้อแนะนำของผมคือทำสองอย่างทั้งเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ครับ

การทำเว็บไซต์เหมาะสำหรับข้อมูลที่เป็นข้อมูลถาวร เปลี่ยนแปลงยาก เช่น ประวัติความเป็นมา รายการสินค้า สถานที่ติดต่อร้านค้า เบอร์โทรศัพท์ วิธีการสั่งซื้อ-ชำระเงิน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นมักมีข้อมูลแบบนี้ไม่เกิน 5-6 หน้าอยู่แล้ว

เมื่อเรานำข้อมูลเหล่านี้ขึ้นเว็บไซต์ ระบบเก็บข้อมูลของกูเกิลจะค้นเจอได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ผู้สร้างเว็บไซต์ควรเรียนรู้เทคนิคการเขียนข้อมูลให้กูเกิลอ่านเข้าใจมากขึ้น (SEO) สักเล็กน้อยด้วย ซึ่งความรู้เรื่องนี้หาอ่านได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว

...

ส่วนเฟซบุ๊กเหมาะสำหรับข้อมูลที่มีความเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น สินค้าใหม่ โปรโมชั่นใหม่ หรือมีลูกค้าบางคนลองใช้แล้วชอบ แนะนำบอกต่อ เราก็สามารถนำเนื้อหาหรือรีวิวพวกนี้มาอัพเดตผ่านเพจได้

อยากขายของออนไลน์ เริ่มต้นยังไงดี?

ถึงแม้ผมจะแนะนำให้เจ้าของธุรกิจทุกคนมีเว็บไซต์ แต่ก็ต้องเตือนเช่นกันว่าการทำเว็บไซต์มีภาระในการดูแลรักษาตามมาพอสมควร ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ไม่ควรลงทุนกับเว็บไซต์เต็มรูปแบบ ตั้งแต่จ้างออกแบบ เช่าเซิร์ฟเวอร์เอง ฯลฯ เพราะผลตอบแทนที่ได้อาจไม่คุ้มกันในช่วงแรกๆ ที่ธุรกิจเรายังไม่เติบโต

ทางเลือกที่ดีกว่าคือสมัครใช้บริการเว็บฟรีที่มีอยู่ทั่วไป เช่น Wordpress.com, Google Sites, Blogger แล้วเขียนเนื้อหาเฉพาะเท่าที่ใช้งาน ระบบเว็บฟรีอาจมีข้อจำกัดเยอะ (เช่น ปรับธีมเองไม่ได้) แต่ข้อดีคือแทบไม่ต้องดูแลรักษาอะไรเลย เขียนเนื้อหาทิ้งไว้แล้วจบ นานๆ ค่อยมาอัพเดตสักทีหนึ่งเมื่อจำเป็น ช่วยลดภาระของเราลงไปได้มาก

เมื่อธุรกิจเติบโตถึงระดับหนึ่งแล้ว ค่อยมาคิดทำเว็บไซต์ดีๆ ออกแบบสวยๆ ทีหลังก็ยังไม่สายเกินไป

ในกรณีที่ธุรกิจของเราเป็นการขายสินค้าออนไลน์ อยากมีระบบอีคอมเมิร์ซด้วย ผมก็แนะนำว่าควรไปใช้บริการหน้าร้านออนไลน์ที่มีอยู่แล้วจะดีกว่าการลงมือทำเอง ตัวอย่างผู้ให้บริการหน้าร้านออนไลน์ของไทยก็มีตั้งแต่ Tarad, Weloveshopping, lnwshop, Shopspot ซึ่งส่วนใหญ่แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านฟรี และค่อยจ่ายเงินเมื่อต้องการบริการเสริมบางอย่างในภายหลัง

เมื่อมีช่องทางการขายพร้อมแล้ว ลำดับถัดไปก็คือการประชาสัมพันธ์ร้านค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งอันนี้คงขึ้นกับสินค้าแต่ละตัวที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน และขึ้นกับสไตล์ของพ่อค้าแม่ค้าแต่ละคนแล้วล่ะครับ