ซีรีส์เศรษฐกิจดิจิทัลเดินทางมาถึงตอนที่ 6 แล้วนะครับ ผมเขียนเรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลไปแล้ว คราวนี้ขอเขียนถึงเรื่องยากอย่าง “การพัฒนาคน”

เมื่อพูดถึงทักษะแรงงานด้านดิจิทัล สิ่งแรกที่คนมักนึกถึงกันคือ “โปรแกรมเมอร์” แต่เอาเข้าจริงแล้ว งานด้านดิจิทัลมีหลากหลายกว่าโปรแกรมเมอร์มาก ทั้งงานด้านเครือข่าย ดูแลระบบ ตรวจสอบความปลอดภัย (พวกนี้ไม่ต้องเขียนโปรแกรม แต่ต้องทำให้ระบบทำงานได้ราบรื่น) งานกราฟิกและแอนิเมชั่น งานด้านเนื้อหา การตลาดออนไลน์ ดูแลโซเชียล ซึ่งกลุ่มหลังใช้ทักษะด้านศิลปศาสตร์มากกว่ากลุ่มแรกด้วยซ้ำ

แต่ไม่ว่าจะเป็นงานเฉพาะด้านใดก็ตาม นายจ้างแทบทุกรายเจอปัญหาแบบเดียวกันหมดคือ “คนไม่พอทำงาน”

เหตุผลเกิดจากงานด้านดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีระดับโลก แต่โครงสร้างการผลิตแรงงานฝีมือด้านนี้กลับเดินตามไม่ทัน ประเทศไทยเรามีคนเรียนด้านไอทีเป็นจำนวนไม่น้อย แต่คนที่มีคุณภาพ มีฝีมือดีพอที่นายจ้างต้องการกลับมีสัดส่วนที่น้อยมาก

ในฐานะคนทำสื่อด้านไอที ผมไปคุยกับนายจ้างที่ไหนก็ได้รับเสียงบ่นคล้ายๆ กันคือ “คนไม่พอทำงาน” “คนเก่งๆ หายาก” “พนักงานไม่มีฝีมือ จบมาได้อย่างไรไม่รู้”

ผมคิดว่าปัญหานี้แก้ยากมาก แต่จะโทษสถาบันศึกษาเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูกนัก วงการไอทีมีคุณสมบัติสำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย นั่นคือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ ในระดับสามเดือนหกเดือนก็ล้าสมัยแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่สถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิมจะปรับตัวตามได้

สิ่งที่สถาบันการศึกษาสาขาไอทีสามารถทำได้คือสอน “พื้นฐาน” สอนหลักคิดให้นักศึกษามีพื้นความรู้ แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมและฝึกฝนทักษะด้วยตัวเอง

...

แน่นอนว่ามีบางสถาบันที่ยังสอนพื้นฐานได้ไม่ดีพอจริงๆ แต่แม้ว่านักศึกษาจบจากสถาบันที่สอนพื้นฐานมาดี แค่นั้นก็ยังไม่พอครับ

นักศึกษาด้านไอทีจึงต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองให้เยอะเป็นพิเศษ จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ตรงนี้เป็นโจทย์ระดับปัจเจกของนักศึกษาหรือแรงงานฝีมือแต่ละคน ซึ่งภาครัฐคงไปบังคับขู่เข็ญได้ยากมากว่าจะให้ทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

สิ่งที่รัฐทำได้คงเป็นแค่การเสริมความรู้ทางอ้อมให้กับแรงงานด้านไอทีของไทย เตรียมสื่อการศึกษาที่คิดว่าจำเป็นไว้ให้ แล้วก็กระตุ้นให้แรงงานในวงการหันมาสนใจเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา

คำว่า “สื่อความรู้” นี่ผมไม่ได้หมายถึงแค่ว่าให้ทำหนังสือหรือวิดีโอสอนทักษะด้านไอทีเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงงานสัมมนา งานพบปะกันระหว่างชุมชนผู้ประกอบวิชาชีพด้านนี้ ซึ่งมีการพูด การสอน การแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างไม่เป็นทางการอยู่ตลอด

รูปแบบงานลักษณะนี้อาจวัดผลโดยตรงได้ยากว่ามีผู้เรียนรู้กี่คน แต่ก็เชื่อได้ว่าอย่างน้อย คนที่มีความตั้งใจขนาดออกจากบ้านมาร่วมฟังการบรรยาย ย่อมมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่มากก็น้อย

อีกเรื่องที่รัฐอาจเข้ามาช่วยได้คือการวัดผลระดับความรู้ ลักษณะเดียวกับการสอบวัดระดับด้านภาษาหรือวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ วิศวกรรม กฎหมาย บัญชี อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเขียนไปแล้วว่าวงการนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก รัฐไม่ควรลงไปทำเองทั้งหมด แต่ควรลงไปสร้างความร่วมมือกับชุมชนวิชาชีพ แต่ละสาขาย่อยให้จัดการกันเอง (เช่น แพทยสภาทำหน้าที่วัดระดับแพทย์ โดยที่รัฐไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวตรงๆ) แล้วค่อยดูว่าสามารถเข้าไปช่วยทำอะไรได้บ้างจะดีกว่า

ทางออกอีกประการหนึ่งของปัญหาแรงงานฝีมือด้านไอทีมีไม่พอ คือใช้แรงงานต่างชาติครับ ปัจจุบันมีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่มีฝีมือและความรู้ด้านไอที เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย (เพราะว่าอยู่สบาย) แต่รับงานโดยตรงจากบริษัทในต่างประเทศ ถ้าภาครัฐสามารถดึงเอาทักษะความรู้ของคนต่างชาติเหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับแรงงานฝีมือไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ ย่อมจะเป็นการแก้ปัญหาด้านทักษะแรงงานได้อีกทางหนึ่ง

มาร์ค Blognone