ข่าวที่น่าสนใจของวงการเทคโนโลยีสหรัฐอเมริกาในรอบสัปดาห์คือ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐของอเมริกา เปลี่ยนระบบรับการจ่ายเงินจาก “บัตรที่ใช้แถบแม่เหล็ก” มาเป็น “บัตรสมาร์ทการ์ด” ทั้งหมด
ก่อนจะเข้าเนื้อข่าว ผมต้องขออธิบายแบบยาวๆ ดังนี้ครับ
บัตรจ่ายเงินในปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็ตาม ประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนประกอบกัน
อย่างแรกคือ “ข้อมูลบนบัตร” ซึ่งของเดิมเก็บด้วยแถบแม่เหล็กบนบัตร (Magnetic) แต่วิธีนี้มีปัญหามากเพราะถูกปลอมแปลงได้ง่าย (ดูจากข่าวการดักข้อมูลเอทีเอ็มในบ้านเราก็ได้) ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารทั่วโลกจึงเริ่มหันมาใช้การเก็บข้อมูลลงชิปอิเล็กทรอนิกส์แทน (Chip) ซึ่งบัตรเครดิตบ้านเราเป็นระบบชิปหมดแล้ว แต่บัตรเอทีเอ็มยังเป็นระบบแถบแม่เหล็กอยู่
อย่างที่สองคือ “การยืนยันตัวตนเจ้าของบัตร” ในกรณีที่เป็นการกดเอทีเอ็ม บ้านเราใช้รหัส PIN จำนวน 4 หลัก แต่พอเป็นบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ยังเป็นระบบการเซ็นลายมือชื่อเทียบกับหลังบัตร (signature) ที่ค่อนข้างโบราณมาก
ในต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรป ได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบ Chip and PIN หรือ “บัตรฝังชิป ยืนยันตัวตนด้วยรหัส” กันมาประมาณ 10 ปีแล้ว วิธีการใช้งานก็เหมือนเราจ่ายบัตรเครดิตตามปกติ แต่พนักงานจะไม่พิมพ์สลิปมาให้เราเซ็นแบบที่คุ้นเคย เราจะต้องยืนยันตัวเองผ่านการกดรหัสบนแป้นตัวเลข (แบบเดียวกับเครื่องเอทีเอ็ม แต่มีแป้นอยู่บนเครื่องรูดบัตรเครดิตแทน)
วิธี Chip and PIN (ชื่อตามมาตรฐานทางเทคนิคเรียก EMV) ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยกว่าระบบเดิมมาก (บัตรเอทีเอ็มบ้านเราเป็น Magnetic and PIN ส่วนบัตรเครดิตของบ้านเราเป็น Chip and Signature) เพราะแฮกข้อมูลจากตัวบัตรได้ยาก แถมโอกาสที่จะปลอมแปลงตัวตนผ่านการปลอมลายเซ็นหรือปลอมบัตรก็น้อยลงมาก เพราะตลอดกระบวนการจ่ายเงิน เจ้าของบัตรจะถือบัตรตลอดเวลา ไม่มีจังหวะที่ยื่นบัตรให้พนักงานเอาไป “ทำอะไรก็ไม่รู้” ที่หลังร้านสักนิดเลย
...
กลับมาที่ประเด็นตามเนื้อข่าวข้างต้นครับ สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีเก่าพอๆ กับประเทศไทย และเจอปัญหาเรื่องกลโกงบัตรเครดิตแบบเดียวกัน แต่สหรัฐฯในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เร่งเครื่องเต็มที่ในการผลักดันเทคโนโลยีการจ่ายเงินแบบใหม่ (Chip and PIN) ให้เกิดขึ้นจริง
บริษัทบัตรเครดิตใหญ่ๆ ทั้ง Visa และ MasterCard ผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะช่วยลดต้นทุนเรื่องการโกงบัตรเครดิตลงได้มหาศาล อย่างไรก็ตาม การผลักดันก็ไม่ง่ายเพราะร้านค้า ธนาคารทั่วประเทศต้องติดตั้งระบบจ่ายเงินใหม่ให้รองรับ Chip and PIN กันหมด (เครื่องอ่านบัตรส่วนใหญ่อาจรับ Chip แต่ไม่มีแป้นสำหรับกด PIN ซึ่งตรงนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยน)
ภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะเริ่มใช้งานเครื่องจ่ายเงินระบบใหม่ช่วงต้นปี 2015 และจะเริ่ม “กดสวิตช์” เปลี่ยนมาใช้การยืนยันตัวตนด้วย PIN ในเดือนตุลาคม 2015 (การเซ็นชื่อแบบเดิมยังใช้ได้อยู่ แต่จะให้ความสำคัญกับการกด PIN เป็นอย่างแรก ถ้าไม่มีเครื่องกด PIN ค่อยกลับไปเซ็นชื่อเหมือนเดิม)
ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็ถูกผลักดันจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้ต้องรีบเปลี่ยนระบบจ่ายเงินของตัวเองเช่นกัน
กลับมาที่เมืองไทยครับ เมืองไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของฝั่งเอเชียที่ยังไม่รองรับระบบ Chip and PIN เต็มรูปแบบ ประเทศอื่นๆ เท่าที่ผมค้นข้อมูลได้คือจีน อินเดีย และญี่ปุ่น
บริษัทบัตรเครดิตทั้ง Visa และ MasterCard มีนโยบายกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบเปลี่ยน นโยบายนี้เรียกว่า Liability Shift ซึ่งอธิบายง่ายๆ เป็นภาษาไทยว่า ถ้าบัตรโดนโกง คนที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกค้าคือหน่วยงานที่ไม่ยอมเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ เช่น ถ้าร้านค้ามีเครื่องกด PIN แล้ว แต่ธนาคารยังไม่ออกบัตรแบบรองรับการจ่ายด้วย PIN แล้วลูกค้าดันถูกโกงระหว่างนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายคือธนาคารนั่นเอง
Visa จะเริ่มใช้นโยบาย Liability Shift กับประเทศไทย (พร้อมกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น) ในเดือนตุลาคม 2017 หรือ พ.ศ. 2560 มีเวลาอีกประมาณสามปี
เท่าที่ผมค้นข้อมูลได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามลุยเรื่องนี้สุดตัว แต่ก็เจอแรงต้านจากธนาคารในไทยที่ต้องลงทุนปรับระบบใหม่หมด ตู้เอทีเอ็มทุกตู้ในประเทศไทยต้องถูกปรับปรุงให้รับบัตรแบบ Chip and PIN ได้ ซึ่งก็คงไม่ง่ายทั้งในแง่งบประมาณและเวลา
ข้อมูลล่าสุดระบุว่าสมาคมธนาคารไทยตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ทุกธนาคารจะต้องปรับระบบให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไป ตลอดปี 2558 เราน่าจะเห็นธนาคารเกือบทุกรายออกมาประกาศข่าวเรื่องนี้เพิ่มเติม
ตอนนี้ธนาคารที่มีระบบ Chip and PIN แล้วคือธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารที่กำลังตามมาติดๆ คือธนาคารกรุงศรี ที่ปรับตู้เอทีเอ็มประมาณ 1 พันเครื่องเป็นระบบใหม่แล้ว
ผมอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน (โดยเฉพาะธนาคารอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างแผนการปรับระบบ) ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมาก ทั้งในแง่ผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ (โดนโกงน้อยลง) และความสับสนวุ่นวายในการสอนลูกค้าให้เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน ดังนั้นธนาคารและร้านค้าจึงควรเตรียมตัวสื่อสารกับลูกค้าของตัวเองแต่เนิ่นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น
การไปเทงบประชาสัมพันธ์ช่วงท้ายๆ ทีเดียว ย่อมสร้างสภาวะโกลาหลอย่างแน่นอน (ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูตัวอย่างเรื่องคูปองทีวีดิจิตอลของ กสทช. ที่ทุกวันนี้คนยังสับสนอยู่มากว่าได้มาแล้วใช้งานอย่างไร)
มาร์ค Blognone