กรณีเว็บไซต์ภัยพิบัติดอทคอม (http://paipibat.com) ได้นำเสนอข้อมูลการทำงานของทุ่นเตือนภัยสึนามิ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของ จ.ภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาในการส่งสัญญาณ เนื่องจากเสาอากาศของทุ่นหลุดลอยไป ตั้งแต่ 31 ส.ค. 56 เป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งสัญญาณกลับมาได้...
จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสงสัยและข้อกังขาถึงประสิทธิภาพการทำงานของทุ่นสึนามิไทย 23401 ว่ายังคงเป็นที่พึ่งและไว้ใจได้หรือไม่ จากประเด็นนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จึงได้สอบถามไปยัง น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ถึงความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ดังกล่าว
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทุ่นเตือนภัยสึนามิของไทย ที่ติดตั้งอยู่บริเวณ จ.ภูเก็ต มีปัญหาจริง โดยปัญหาเกิดจากทุ่นส่งสัญญาณที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ (Buoy) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุที่มีความทนทาน โดยปกติทุ่นลอยจะมีสายยึดไว้กับพื้นสมุทร เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่และป้องกันการเปลี่ยนตำแหน่งของทุ่น แต่ขณะนี้ทุ่นดังกล่าวได้หลุดออกจากตำแหน่ง จึงไม่สามารถรับสัญญาณจากเครื่องวัดความดันน้ำที่อยู่ใต้น้ำ (BRP) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจวัดความดัน เพื่อรายงานผลถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำในบริเวณพื้นสมุทร และนำค่าที่ได้มาคำนวณหาระดับความสูงของน้ำด้านบนมหาสมุทรได้
ดังนั้น จากสาเหตุดังกล่าว จึงไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมอิริเดียม (Iridium Satellite) เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังสถานีรับข้อมูลที่อยู่ภาคพื้นดิน ในรูปแบบสัญญาณดาวเทียมได้
ทั้งนี้ การเตือนภัยสึนามิในไทยยังสามารถทำงานได้ เนื่องจากยังคงใช้ข้อมูลจากทุ่นเตือนภัยสึนามิของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมไปถึงข้อมูลช่องทางอื่นๆ ที่มีการติดต่อประสานงานกันทั่วโลก ส่วนทุ่นสึนามิไทย 23401 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณ จ.ภูเก็ต ขณะนี้ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 21 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในเรื่อง อุปกรณ์ทุ่นลอย (Buoy) ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าเรือที่ใช้เดินทางในการติดตั้ง และคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางและติดตั้งประมาณ 7 วัน ซึ่งจะมีการดำเนินการนำอุปกรณ์ทุ่นลอย (Buoy) ตัวใหม่ไปติดตั้งยังตำแหน่งเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 20 ม.ค. 57
...
ส่วนทุ่นตัวเก่าก็จะเก็บกลับมาเพื่อซ่อมบำรุงไว้ใช้ในโอกาสต่อไป และฝากบอกถึงประชาชนว่า ทุ่นดังกล่าวเป็นเพียงอุปกรณ์และเครื่องมือส่วนหนึ่งที่เกื้อหนุน ให้ข้อมูลการเตือนภัยสึนามีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ศูนย์เตือนภัยยังมีการประสานงานจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วย ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป
สำหรับประเทศไทย เป็นอีกประเทศที่มีการลงนามเพื่อให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบเตือนภัยขึ้น โดยร่วมลงนามกับสหรัฐฯ ในข้อตกลงการร่วมมือทางด้านวิชาการ ในการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวแรกในมหาสมุทรอินเดีย โดยทำการติดตั้งเมื่อวันที่ 1-7 ธ.ค. 2549 ในบริเวณเขตน่านน้ำสากลที่ตำแหน่งละติจูด 8.9 องศาเหนือ ลองติจูด 88.5 องศาตะวันออก ซึ่งเครื่องตรวจวัดสึนามิตัวแรก ที่ทำการติดตั้งนี้ อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร หรือประมาณ 600 ไมล์ทะเล และปีนี้ถือเป็นการทำงานปีที่ 8 ของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทยแล้วเช่นกัน.