รมว.ไอซีที ห่วงศูนย์เตือนภัยฯทำงานไม่ได้ พร้อมเตรียมแบ็กอัพรับมือม็อบปักหลักยาว ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ วอนม็อบตรองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตประชาชน...

วันที่ 28 พ.ย.56 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ที่ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานในสังกัด จนทำให้กระทรวงไอซีที สั่งข้าราชการหยุดการทำงานเมื่อช่วงเที่ยงของวานนี้ (27 พ.ย.) ทำให้ห่วงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ไม่สามารถทำงานที่ศูนย์ราชการได้ และยอมรับว่าเครื่องมือของศูนย์เตือนภัยฯ ที่บางนา การทำงานไม่สมบูรณ์แบบ 100% จึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยพิจารณาถึงผลกระทบจุดนี้ด้วย เนื่องจากหน้าที่หลักของศูนย์เตือนภัยฯ คือการเตือนภัยพิบัติ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงไอซีที เตรียมแผนรองรับระยะยาวไว้ สำหรับกรณีที่ไม่สามารถให้บริการได้ โดยหน่วยงานในสังกัดได้มีการเตรียมสถานที่ทำงานชั่วคราวรองรับไว้อยู่แล้ว โดยแต่ละหน่วยงานได้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แบ็กอัพ) รองรับการทำงานอยู่แล้ว และยืนยันว่าการทำงานในโครงการของกระทรวงไอซีทีจะยังคงดำเนินงานตามปกติ แต่จะเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่และพนักงานที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

ด้าน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า แม้จะมีปัญหาในเรื่องของอุปกรณ์และระบบการทำงาน ระบบวิทยุเตือนภัย แต่ขณะนี้ ศูนย์เตือนภัยฯ อยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดระบบการทำงานใหม่ เพื่อให้ประสิทธิภาพของการเตือนภัยสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ไม่ขอเปิดเผย เพราะไม่อยากให้ม็อบเข้ามายึดพื้นที่อีก ในฐานะที่ตนเป็นผู้ดูแลและหน้าที่ที่ต้องดูแลทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน จะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเต็มที่และดีที่สุด

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่า ช่วงที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดสถานที่ราชการที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐแจ้งความต้องการขอจัดเก็บสำรองข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรอย่างเร่งด่วนทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงไอซีที ซึ่ง สรอ.ได้ดำเนินการสำรองจัดเก็บข้อมูลได้เสร็จสิ้นทันก่อนเหตุการณ์บุกยึดสถานที่

นอกจากนี้ ในส่วนของอุปกรณ์เครื่องเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลที่ทำหน้าที่จัดเก็บเพื่อ เชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ยังอยู่ภายใต้การดูแลรักษาที่มีความปลอดภัยสูงสุด และจะกระจายไปยังสถานที่จัดเก็บต่างๆ ภายใต้การดูแลของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แบ่งเป็น 3 ชั้นของการดูแล คือ เซิร์ฟเวอร์หลัก เซิร์ฟเวอร์สำรอง และเซิร์ฟเวอร์ชั้นลับสุดยอดซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

...