ถ้าหากผมลองถามขึ้นมาว่า “ผู้ทรงอิทธิพล” แห่งวงการไอทีในระดับโลกคือใคร คำตอบก็คงหลากหลาย เป็นไปได้ทั้ง "สตีฟ จ๊อบส์"-"บิล เกตส์" สองคู่หูผู้ก่อตั้ง กูเกิล มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ฯลฯ
คำตอบเหล่านี้ไม่ผิดครับ แต่ชื่อที่คุ้นเคยเหล่านี้ทั้งหมดเป็นพวก “ดังขึ้นมาเดี่ยวๆ” สร้างตำนานให้วงการไอทีด้วยฝีมือตัวเองล้วนๆ และส่วนใหญ่ก็มักอยู่กับบริษัทนานๆ ไม่คิดไปอยู่ที่อื่น ถ้าจะเลิกทำงานก็อาจหันไปทำงานการกุศลแบบเดียวกับที่ บิล เกตส์ทำ
ในความเป็นจริงแล้ว โลกไอทีฝรั่งโดยเฉพาะฝั่งซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐอเมริกา มีคนดังที่ประสบความสำเร็จอีกมาก ที่ระดับความดังอาจไม่ทะลุฟ้าอย่างรายชื่อข้างต้น แต่ก็มีบทบาท มีอิทธิพลในการก่อร่างสร้างบริษัทหน้าใหม่ๆ เป็นอย่างมาก
คนดังระดับรองๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวก “ดังเดี่ยว” เช่นกันครับ แต่ที่ผมจะมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์ ตอนนี้คือ “เครือข่าย” คนดังที่มีรากเหง้ามาจากบริษัทเดียวกัน เรียกได้ว่าบริษัทไอทีรุ่นหลังๆ ที่ดังๆ หน่อย ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นได้จากฝีมือคนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น
บริษัทที่ว่านี้คือ PayPal เจ้าพ่อแห่งการจ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตครับ
PayPal ก่อตั้งในปี 1998 โดยเกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัทจ่ายเงินออนไลน์ 2 บริษัท คือ Confinity และ X.com หลังจากนั้น บริษัทก็เติบโตกลายมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกอินเทอร์เน็ต และขายกิจการให้กับ eBay บริษัทประมูลออนไลน์ในปี 2002 ในราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้น พนักงานกลุ่มแรกๆ ที่ได้หุ้นก็สบายไปตลอดชาติ นอนกอดเงินล้านกินใช้ยังไงก็ไม่หมด
แต่กลุ่มผู้ก่อตั้งและพนักงานคนสำคัญๆ ของ PayPal กลับไม่คิดเช่นนั้นครับ แต่ละคนก็แยกย้ายไปตามแนวทางของตัวเอง แต่อยู่บนอุดมการณ์เดียวกันคือ “เปิดกิจการที่สอง” ให้ประสบความสำเร็จและร่ำรวยต่อเนื่องกันไปอีก
เวลาผ่านมาสิบกว่าปี เครือข่าย PayPal กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกไอที บริษัทไอทีที่ถือกำเนิดในรอบ 10 ปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกดังทะลุฟ้า อย่าง Facebook หรือ YouTube ไปจนถึงบริษัทระดับรองลงมาอย่าง LinkedIn และ Yelp ล้วนแล้วแต่มีอดีตคนของ PayPal มาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น
เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่มคนของ PayPal ยังก้าวข้ามวงการไอทีไปตั้งบริษัทเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าหรือการสำรวจอวกาศอีกด้วย
สื่อไอทีฝรั่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “PayPal Mafia” เพื่อแสดงถึงอิทธิพลของพวกเขาเหล่านี้
เริ่มจากกลุ่ม “หัวหน้ามาเฟีย” ก่อนครับ PayPal มีผู้ก่อตั้งหลายคน แต่ที่โดดเด่นหน่อยมี 3 คน
...
ป๋าใหญ่คนแรกคือ Peter Thiel หัวเรี่ยวหัวแรงในการตั้ง PayPal ซึ่งหลังจากขายกิจการแล้ว เขาหันไปเปิดบริษัทลงทุนในกิจการหน้าใหม่หลายแห่ง ผลงานเลื่องชื่อของเขา ในฐานะนักลงทุนคือ ควักเงิน 500,000 ดอลลาร์ ให้กับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในช่วงตั้งต้นของ Facebook (อยู่ในหนัง เรื่อง The Social Network นะครับ ไปย้อนดูกันได้) แลกกับหุ้น 10% ของบริษัท คงไม่ต้องคำนวณกันให้อิจฉานะครับว่า เงิน 5 แสนดอลลาร์ ที่ Thiel จ่ายไป มีมูลค่าเท่าไรในตอนนี้
ผู้ก่อตั้ง PayPal อีกคนหนึ่ง ชื่อ Max Levchin เขาเป็นคนยูเครน ที่มาประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ หลังจากนั้น เขาออกไปเปิดบริษัท Slide ทำอัลบั้มภาพออนไลน์ ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง (คนเล่น Hi5 คงจำกันได้) แล้วขายกิจการให้กูเกิลไปไม่แพงนัก หลังจากนั้นเขาไปลงทุนในบริษัทรีวิวร้านอาหาร Yelp ที่ตอนนี้เข้าตลาดหุ้นไปแล้วเรียบร้อย
ผู้ก่อตั้งคนที่สาม (มาจาก X.com เดิม) คือ Elon Musk คนนี้ดังหน่อยในช่วงหลังๆ เพราะไปเปิดบริษัทสุดเจ๋งอีก 2 บริษัทพร้อมๆ กัน คือ บริษัทท่องอวกาศที่มีจรวดของตัวเองชื่อ SpaceX และบริษัทรถยนต์พลังไฟฟ้าชื่อ Tesla ซึ่งกำลังโด่งดังในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังไปลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อีกด้วย เขาถือเป็นคนดังที่ได้รับการยกย่องว่ามีวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากอีกคนหนึ่งของโลกไอที
นอกจาก 3 ผู้ก่อตั้งแล้ว อดีตพนักงาน PayPal คนอื่นๆ ก็ออกไปได้ดิบได้ดีกันอีกหลายคนครับ ผมคัดมาเฉพาะที่ดังจริงๆ เท่านั้นพอ
ผู้ก่อตั้ง YouTube สามคนคือ Steve Chen, Jawed Karim, Chad Hurley ก็เคยเป็นทีมซอฟต์แวร์ของ PayPal ตอนนี้ ทั้งสามออกไปเปิดบริษัทด้านวิดีโอใหม่ ชื่อ MixBit
โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับอาชีพการงาน LinkedIn ก็ตั้งโดยอดีตผู้บริหารชื่อ Reid Hoffman
Dave McClure อดีตพนักงานด้านการตลาด ออกไปตั้งกองทุนสำหรับกิจการหน้าใหม่ ชื่อ 500 Startups คนนี้เคยมาเมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อผลักดันบริษัทหน้าใหม่ในไทยด้วย
ที่เหลือๆ ส่วนใหญ่ผันตัวไปเป็นนักลงทุน หรือร่วมงานในบริษัทลงทุนดังๆ หลายแห่ง และประสบความสำเร็จมากมายกับการลงทุนในบริษัทไอทียุคหลัง
เรื่องราวของ PayPal Mafia ในเบื้องต้นคงจบลงแค่นี้ครับ ในโอกาสถัดๆ ไป ผมจะมาเล่ารายละเอียดของบริษัทบางแห่งที่เอ่ยถึงในที่นี้ (เช่น Yelp หรือ LinkedIn) เผื่อจะได้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการตั้งบริษัทไอทีหน้าใหม่ในเมืองไทยในอนาคตนะครับ.
...
มาร์ค Blognone