เมื่อเดือนที่แล้วผมไปญี่ปุ่นมาครับ ประเทศสุดฮิตฮอตของคนไทยในช่วงนี้เนื่องจากเพิ่งยกเลิกวีซ่าพอดี
การไปญี่ปุ่นของผมครั้งนี้ถือว่าไปเที่ยวล้วนๆ โดยจัดแผนการเที่ยวเองไม่พึ่งทัวร์ (ซึ่งง่ายมากเพราะทุกอย่างของญี่ปุ่นเป็นระบบไปหมด) สิ่งหนึ่งที่ไม่พลาดคือการออกไปชมธรรมชาตินอกโตเกียวด้วยรถไฟความเร็วสูง “ชินคังเซ็น”
ไหนเลยประเทศไทยกำลังริเริ่มจะทำรถไฟความเร็วสูงกันพอดี ผมเลยถือโอกาสไป “สังเกต” การดำเนินงานของบริษัทรถไฟญี่ปุ่นหรือที่เราเรียกกันว่า JR ด้วย ไปดูว่าเขาบริหารจัดการกันอย่างไรถึงได้มีประสิทธิภาพขนาดนี้
เนื่องจากพื้นเพของผมเป็นคนสายไอที เรื่องเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรเครื่องกลก็คงออกตัวว่า “มิกล้า” วิพากษ์วิจารณ์นะครับ ขอเน้นไปที่เทคโนโลยีด้านไอทีเป็นหลักดีกว่า

อย่างแรกสุดเลยเป็นเรื่องของ “ข้อมูลการเดินทางด้วยรถไฟ” ครับ
โครงข่ายรถไฟของญี่ปุ่นนั้นยิ่งใหญ่และซับซ้อนมาก มีบริษัทเดินรถไฟหลายแห่ง ทั้งบริษัทในเครือ JR ที่แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจในอดีต (ในเครือ JR เองยังมีบริษัทยิบย่อยเต็มไปหมด) และบริษัทรถไฟภาคเอกชนที่มักให้บริการรถไฟเฉพาะบางพื้นที่หรือบางภูมิภาค แถมหลายๆ บริษัทก็ยังไม่ได้ทำแค่รถไฟอย่างเดียว ยังมีธุรกิจรถบัส โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เรือข้ามฟาก ฯลฯ
เอาเฉพาะแค่ในนครโตเกียวเพียงแห่งเดียว ก็มีรถไฟใต้ดินทั้งของภาครัฐและเอกชน และ “รถไฟบนดิน” ของกลุ่มบริษัท JR ที่วิ่งรอบเมืองโตเกียวอยู่ด้วย
ส่วนเรื่องรถโดยสารก็ยังมีรถสารพัดแบบ รถด่วน รถไม่ด่วน รถหวานเย็น รถไฟความเร็วสูงชินคังเซ็น รถที่วิ่งเฉพาะบางเวลา แชร์โค้ดร่วมกันอย่างกับสายการบิน ฯลฯ
ใครไปญี่ปุ่นครั้งแรกแล้วต้องมาเจออะไรแบบนี้ งงแน่นอนครับ
แต่ปัญหาเรื่อง “ข้อมูล” ลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งที่เราสามารถนำระบบไอทีมาช่วยบริหารจัดการให้ชีวิตง่ายขึ้น
ในเมื่อบริษัทรถไฟญี่ปุ่นมีข้อมูลพวกนี้อยู่แล้วว่า รถไฟขบวนไหนวิ่งอย่างไร มาถึงสถานีไหนเวลากี่โมง (ซึ่งเขาทำได้จริงๆ ไม่ดีเลย์) ก็ปล่อยให้ภาคเอกชนดึงข้อมูลพวกนี้ไปวิเคราะห์และประมวลผล ออกมาเป็นระบบช่วยเลือกเส้นทางรถไฟอัตโนมัติ
ผู้โดยสารแค่เลือกสถานีต้นทาง สถานีปลายทาง วันและเวลาที่ต้องการ ระบบจะนำเสนอ “เส้นทางที่น่าจะดีที่สุด” ให้อัตโนมัติ
...

เว็บไซต์ที่ให้บริการลักษณะนี้ในญี่ปุ่นมีรายใหญ่อยู่ 2 รายคือ Hyperdia.com (ในเครือบริษัทฮิตาชิ) และ Jorudan.co.jp ครับ ใครจะไปนั่งรถไฟญี่ปุ่น ต้องการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าก็ไม่ควรพลาดเว็บกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง
อย่างที่สองคือเว็บไซต์ของบริษัทรถไฟญี่ปุ่นเอง โดยเฉพาะในเครือ JR ครับ
ถ้าลองเข้าเว็บไซต์ของบริษัทรถไฟญี่ปุ่น โดยเฉพาะ JR East ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟรายใหญ่ที่สุดและดูแลเส้นทางรถไฟรอบพื้นที่นครหลวงโตเกียว (http://www.jreast.co.jp/e/) จะพบว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษแบบครบถ้วน มีรายละเอียดครบครันไม่ว่าจะเป็น
• แผนที่เส้นทาง
• แผนที่ภายในสถานี
• ตารางเวลา
• อัตราค่าโดยสาร
• ตัวอย่างเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยรถไฟ
เรียกว่าถ้านักท่องเที่ยวเข้าเว็บของ JR East แล้วสามารถหาข้อมูลได้แทบทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีเว็บภาษาจีนและเกาหลีรองรับนักท่องเที่ยวจากสองประเทศนี้เป็นการเฉพาะอีกด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเราๆ ที่ถือบัตร JR Pass บัตรเหมาสำหรับขึ้นรถไฟของ JR ได้เกือบทุกขบวน (คนญี่ปุ่นไม่ได้สิทธินี้) การขึ้นรถชินคังเซ็นบางขบวนต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น ไม่สามารถเดินดุ่มๆ ไปขึ้นเลยได้
กระบวนการจองโดยทั่วไปก็สามารถเดินไปที่ศูนย์ขายตั๋วของ JR ตามสถานีใหญ่ๆ แล้วให้เจ้าหน้าที่ช่วยจองตั๋วให้ได้ (โดยเราแสดงแค่บัตร JR Pass) แต่ถ้าต้องการความสะดวกมากกว่านั้นก็สามารถจองผ่านเว็บได้เช่นกัน (JR East Shinkansen Reservation)
ระบบการจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าแบบนี้เป็นสิ่งมาตรฐานที่การรถไฟ หรือบริษัทเดินรถไฟในประเทศพัฒนาแล้วต้องมี ยิ่งเดี๋ยวนี้พอมีอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพา หลายๆ ประเทศก็อำนวยความสะดวกให้สามารถซื้อตั๋ว จองตั๋ว ผ่านแอพมือถือกันได้แล้ว ซึ่งผมก็ต้องฝากทาง รฟท. และกระทรวงคมนาคมให้เตรียมคิดเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับการวางแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปด้วยเลยนะครับ

มาร์ค Blognone