กทค. ชี้ DTAC ผิด เก็บค่าโทร.เกิน 99 สตางค์ สั่งคืนเงินส่วนเกินให้ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีเก็บค่าโทร.มือถือเกิน 99 สตางค์รายแรกแล้ว สั่ง DTAC ต้องคืนเงินส่วนที่เก็บเกินให้ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 แต่ยังไม่ยอมให้มีมาตรการเยียวยาเป็นการทั่วไป ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ประสบปัญหายังต้องร้องเรียน จึงจะได้เงินคืน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยถึงผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคโดยที่ประชุม กทค. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้วางบรรทัดฐานต่อกรณีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G ในอัตราที่เกินกว่า 99 สตางค์ แล้วว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย นั่นคือประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ดังนั้นจึงมีมติให้ผู้ให้บริการต้องคืนเงินส่วนที่เก็บเกินไปนั้นให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องเรียน โดยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของเงินส่วนเกินนั้นด้วย ในอัตราร้อยละ 15 ตามอัตราที่บริษัทเรียกเก็บจากผู้บริโภคในกรณีที่ชำระค่าบริการล่าช้า

“มตินี้เป็นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการของดีแทค แต่จากกรณีเดียวนี้ก็เป็นบรรทัดฐานว่า ผู้ให้บริการทุกรายที่มีหน้าที่ตามประกาศเรื่องอัตราขั้นสูงนั้น หากมีการเรียกเก็บเงินเกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนด แล้วผู้บริโภคมีการร้องเรียนเข้ามา ก็จะต้องถูกสั่งให้คืนเงินที่เก็บเกินไปนั้นพร้อมดอกเบี้ยเช่นเดียวกันทุก ๆ ราย”

นายประวิทย์ กล่าวต่อไปด้วยว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ กทค. ไม่ยอมมีมติสั่งเป็นการทั่วไปในเรื่องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ทางผู้ร้องเรียนรายนี้ก็มีคำร้องขอในประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนกันทุกคน และ กทค. ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นกรณี ๆ ไป โดยถ้า กทค. มีมติออกมา สำนักงาน กสทช. ก็จะสามารถสั่งการให้บริษัทที่คิดค่าบริการเกินดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ใช้บริการทั้งหมด

นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า สำนักงาน กสทช. มีการเสนออีกวาระหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันให้ กทค. พิจารณา นั่นคือ เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ร้องเรียนกรณีถูกคิดค่าบริการเกินอัตราขั้นสูงฯ ซึ่งมีข้อเสนอประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) ให้ผู้ร้องเรียนมีสิทธิ์ชำระค่าบริการเฉพาะส่วนที่เห็นว่าไม่เกินอัตราที่ กฎหมายกำหนด (99 สตางค์) ได้ 2) เมื่อมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่าไม่เป็นการเรียกเก็บเกินอัตรา ก็ให้มีสิทธิ์เก็บเงินต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นการเรียกเก็บเกิน ก็ต้องคืนเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม กทค. ไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากทางส่วนงานเจ้าของเรื่องได้ขอถอนข้อเสนอออกไปเพื่อปรับปรุงใหม่ หลังจากพบว่า ในการแสดงความเห็นชั้นกลั่นกรองเรื่องก่อนบรรจุวาระ กทค. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่เสนอ

“มีผมที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสำนักงาน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ข้อ 1) เพราะรู้ว่าเรื่องการไม่ยอมรับชำระเงินบางจำนวนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะ ทำให้ผู้บริโภคถูกต้อนเข้าตาจนในที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาการโต้แย้งเรื่องค่าบริการบางส่วน โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคเพียงไม่อยากจ่ายค่าบริการส่วนที่ยังมีข้อติดใจหรือ ข้องใจ และพร้อมจ่ายค่าบริการส่วนที่ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ เพราะผู้ให้บริการหรือบริษัทจะยอมรับชำระยอดเต็มเท่านั้น ผู้บริโภคจึงเลือกไม่ชำระ และพอครบสองรอบบิล บริษัทก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายระงับหรือตัดบริการของผู้บริโภค เท่ากับบังคับผู้บริโภคให้เลิกโต้แย้งโดยปริยาย เพื่อแลกกับการได้ใช้บริการ ดังนั้น ข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ในข้อแรกจึงนับว่ามาถูกทาง ส่วนข้อ 2) ก็เป็นหลักที่ถูกต้อง ซึ่งผมเสนอด้วยซ้ำว่า ควรกำหนดเป็นมาตรการทั่วไป ไม่ใช่ใช้กับคนที่มาร้องเรียนเท่านั้น แต่เนื่องจาก กทค. ท่านอื่น ๆ เห็นว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นจำเป็นต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป เพราะข้อเท็จจริงแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน ความจริงเหตุผลนี้ผมก็ไม่เถียง แต่ก็เห็นว่ามาตรการที่เสนอนั้นก็มีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่ได้ครอบคลุมจนกว้างไปหมด ก็เลยเสียดายที่ยังต้องให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายเริ่มต้นร้องเรียนเข้ามา ซึ่งผมก็อยากชักชวนนะครับ เพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองในบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีที่ กทค. พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันผมก็แจ้งให้สำนักงานเร่งรัดเสนอเรื่องร้องเรียนกรณีค่าบริการ เกิน 99 สตางค์รายอื่น ๆ เข้ามาด้วย เพราะทราบว่ามีอีกเกือบ 130 เรื่อง” กสทช. ประวิทย์กล่าวในที่สุด.

...