ประเด็นร้อนตามหน้าสื่อในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือข่าวความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กับพนักงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ตัวผมเองก็ไม่ได้อยู่วงในเลยสักนิด คงให้ความเห็นลำบาก แต่ประเด็นที่หยิบมาเขียนถึงในคอลัมน์นี้คือแนะนำตัวหน่วยงาน “สวทช.” ซึ่งผมเชื่อว่าคนยังรู้จักน้อย แต่กลับเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการวิจัยของประเทศไทยมาก
แนะนำ สวทช.
สวทช. หรือชื่อย่อภาษาอังกฤษ NSTDA เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่า “กรม” แต่มีระเบียบปฏิบัติของตัวเองต่างไปจากระบบราชการเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน
สวทช. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2534 ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 เป้าหมายเพื่อเป็นหน่วยงานที่ “ดำเนินการวิจัย” ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ดังนั้นให้เปรียบเทียบ สวทช. ว่าเป็น “ศูนย์วิจัยแห่งชาติ” (ที่ไม่ใช่ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย) ก็คงไม่ผิดนัก
สวทช. มีหน่วยงานย่อยที่ทำหน้าที่ด้านการวิจัยแขนงต่างๆ จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ ไบโอเทค (พันธุกรรม-ชีวภาพ) เอ็มเทค (โลหะ-วัสดุศาสตร์) เนคเทค (อิเล็กทรอนิกส์-คอมพิวเตอร์) นาโนเทค (นาโนเทคโนโลยี) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานย่อยอื่นๆ อีกมาก
ปัจจุบัน สวทช. มีพนักงานประมาณ 2,600 คน งบประมาณประจำปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายในการวิจัยของ สวทช. มีทั้งหมด 5 กลุ่มงานหรือ “คลัสเตอร์” ได้แก่
1. เกษตรและอาหาร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง สุขภาพสัตว์
2. พลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน
3. สุขภาพและการแพทย์ เช่น วัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ
4. ทรัพยากรชุมชนและผู้ด้อยโอกาส เช่น ทรัพยากรชีวภาพ
5. อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์
...
ปัญหาและอุปสรรคของ สวทช. ต่อการวิจัยในไทย
สวทช. ก่อตั้งมา 21 ปีแล้ว มีผลงานมากมาย แต่กลับยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก ด้วยเหตุผลสำคัญว่าสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” หรือ “การวิจัย” เท่าที่ควร
ภาคธุรกิจไทยยังติดกรอบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีต่ำ และกดราคาสินค้าให้ถูกจากค่าแรงต่ำ-ส่วนลดภาษี เพื่อให้แข่งขันด้านราคากับสินค้าของประเทศอื่นๆ ได้ ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สนใจการคิดค้นสินค้า-บริการใหม่ๆ ด้วยตัวเอง (ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวกับว่ามีหรือไม่มีงบประมาณนะครับ เพราะต่อให้มีกำไรก็เห็นว่า “ไม่มีเวลา-ไม่ใช่ธุระ” ที่จะมาวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรม)
อุปสรรคสำคัญของ สวทช. รวมถึงหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ในประเทศไทยจึงเป็นการต่อสู้กับ “วิธีคิด” ของสังคมไทยที่มองว่า “ไม่ต้องวิจัยก็ได้” ซื้อหรือลอกเลียนเอาดีกว่านั่นเอง
เราจะปล่อยให้สภาพการณ์ด้านการวิจัยของไทยเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วภาคธุรกิจไทยต้องขยับ “สงครามราคา” จากประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายที่เริ่มมาผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำแข่ง ต้องสร้างนวัตกรรมจากการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากเดิม ซึ่งก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีว่าบริษัทขนาดใหญ่ของไทยอย่าง SCG, PTT, CP เริ่มเห็นประโยชน์จากการวิจัยมากกว่าเดิมมาก
ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมมากขึ้น ส่วนหน่วยงานด้านการวิจัยของไทยก็ต้องปรับตัวเข้าหาภาคธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่ศึกษาวิจัยตามใจชอบ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการหรือเป้าหมายให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณด้านการวิจัยที่ลงทุนไปให้เกิดผลตอบแทนออกมาเป็นตัวเงินผ่านผู้ประกอบการในประเทศ
เท่าที่ผมหาข้อมูลพบว่า สวทช. ก็มีโครงการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนอยู่มาก เช่น การสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่ข้างๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เกิดพื้นที่ศูนย์กลางด้านการวิจัยของประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมไปถึงโครงการทางภาษี-เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-กองทุนสำหรับการวิจัยของภาคเอกชน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ สวทช. มีบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคมากมาย ถ้าสนใจสามารถดูข้อมูลได้จาก http://www.nstda.or.th/nstda-services ครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
• การสร้างความสามารถของผู้ประกอบการไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลไกสนับสนุน http://www.nstda.or.th/nac2013/download/20130331Thaweesak.pdf
• สวทช. กับการยกระดับความสามารถของประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี http://www.slideshare.net/nstda/st-with-nstda
มาร์ค Blognone