ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค AI อย่างแท้จริง!

จากที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เพิ่งมีการเปิดตัวของ generative AI ชื่อดังคือ Chat GPT ที่สร้างความฮือฮาและยังสร้างแรงกระเพื่อมจนถึงทุกวันนี้ ก่อนที่ต่อมาจะมี generative AI ตัวใหม่ๆที่กำลังแข่งกันอยู่ในปัจจุบันอย่าง Gemini และ Claude ที่ฉลาดและเก่งกว่า Chat GPT เป็นต้น

ถึงวันนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ความก้าวหน้าและเทรนด์ของเทคโนโลยีที่กำลังจะส่งผลกระทบกับพวกเราทุกคนในวงกว้าง

“สวทช.ได้วิเคราะห์การมาถึงของ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบกับพวกเราทุกคน เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการรับมือ โดย 10 เทคโนโลยีใหม่ครึ่งหนึ่งเป็น digital technology และมี AI ร่วมอยู่ด้วยมากบ้าง น้อยบ้าง ในทางตรงบ้าง ในทางอ้อมบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาถึงยุคของ AI แล้ว” ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช.ระบุ

ดังนั้น AI จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

...

“ใน 10 เทคโนโลยีใหม่ มีกลุ่มของ AI ชัดเจน 4 เทคโนโลยี คือ 1.การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI–Augmented Software Development) โดยความก้าวหน้าของ generative AI และ Machine Learning เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำ AI มาใช้ในกระบวนการออกแบบ สร้าง ทดสอบรวมไปถึงการวางตลาดแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่างๆอย่างรวดเร็วมากขึ้น ประมาณการกันว่าจะมีการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ของการทำซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันใหม่ๆราว 35-45% ไปพร้อมๆกับการลดต้นทุนได้ถึง 20% โดยใช้เวลาที่สั้นลงอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2571 วิศวกรซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ในองค์กรราว 75% จะใช้ AI ช่วยในการเขียนโค้ด 2.เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology) ที่ปัจจุบันเริ่มมีอุปกรณ์สวมใส่บนร่างกายที่ใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อตรวจจับอิริยาบถและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ รวมไปถึงท่านอน การล้มและตำแหน่งที่เกิดเหตุภายในอาคาร พร้อมแสดงผลและแจ้งเตือนผู้ดูแลแบบเรียลไทม์ 3.เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies, PETs) ในหลายประเทศมีการนำเทคโนโลยี PETs มาให้บริการแล้วในวงการการเงิน สุขภาพและทรัพยากรบุคคล

ขณะที่ของไทย สวทช.ได้พัฒนาเทคโนโลยี PETs ให้ใช้กับแพลตฟอร์ม loT สำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้ว และ 4.หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot) ปัจจุบันมีการใช้งานหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยแล้วในหลายประเทศ ตลาดโลกของหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย ประเมินกันว่าอาจจะสูงถึง 71,800 ล้านเหรียญ ในปี 2570 โดยปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือความต้องการเทคโนโลยีนี้ในทางทหารและการป้องกันประเทศเป็นหลัก ขณะที่ของไทยกำลังมีการพัฒนาหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด” ผอ.สวทช.กล่าว

...

ขณะเดียวกันเทคโนโลยี AI ยังเข้าไปมีบทบาทใกล้ตัวประชาชนในด้านสุขภาพอีกด้วย คือ 1.กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle) หรือกล้ามเนื้อจำลอง สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริงตามธรรมชาติ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาห กรรมการแพทย์และไปประยุกต์ใช้ในหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้างและระบบควบคุมอัตโนมัติเพื่อให้หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบา สามารถทำงานกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย 2.แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Health care) คือการใช้แบบจำลอง AI ที่ประมวลผลจากข้อมูลประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เพื่อให้รู้ผลการรักษาก่อนการรักษาจริง สามารถปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับเราที่สุด หรือแม้แต่สามารถประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆของเราได้ล่วงหน้า ซึ่งประเทศไทยกำลังจะนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้งานเร็วๆนี้ และ 3.จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Health care) คือการใช้เชื้อที่ผ่านกระบวนการทางวิศวกรรมที่เรียกว่าชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ซึ่งใช้หลักการทางวิศวกรรมชีวเคมี ในการออกแบบและสร้างระบบชีวภาพ จนได้เป็น “วงจรยีน (gene circuit)” ช่วยเฝ้าระวังหรือรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจง

...

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 เทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ 1.เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้ “เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง” ที่ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ 2.ไฮโดร เจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility) จะเป็นอีกตัวเลือกของพลังงานอนาคต ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจนจากพื้นฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบนี้ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์และนำมาขายเป็นคาร์บอนเครดิตของประเทศไปพร้อมๆกันได้อีกด้วย

...

และสุดท้ายคือการเข้าสู่ยุคของการใช้พลังงานสะอาดใน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Next Generation of Recirculating Aquaculture System: RAS) โดยมีการบำบัดของเสียออกจากน้ำและเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ข้อดีคือไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างหนาแน่นในพื้นที่น้อย สามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยงและมีการติดตามปัจจัยต่างๆ ได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิมที่เลี้ยงในบ่อดิน เลี้ยงในกระชัง ซึ่งมีข้อเสียหลายประการ เช่น ใช้น้ำมากและสร้างมลพิษทางน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคสัตว์น้ำ เป็นต้น

ทั้ง 10 เทคโนโลยีใหม่คือแนวโน้มหรือเทรนด์ของเทคโนโลยีโลกที่กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างภายในระยะปัจจุบันและเวลาอันใกล้นี้

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า เราผ่านครึ่งปีแรก 2567 เข้าสู่ครึ่งปีหลัง สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะ “เทคโนโลยี” มีความก้าวหน้าและมีพลังในการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน โดยเฉพาะการเข้ามาของ AI ที่มีทั้งความฉลาดและเลียนแบบมนุษย์ได้

แต่ที่สำคัญคือเราจะรับมืออย่างไรเพื่อจะนำด้านที่เป็นประโยชน์ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยไม่มีผลกระทบด้านลบ

เพราะทุกสิ่งที่มีคุณอนันต์ อีกด้านหนึ่งอาจมีโทษมหันต์ควบคู่กันมาด้วยเสมอ.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่