ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความร้อน หรือเป็นพลังงานให้กับยานพาหนะ และผลพลอยได้จากการเผาไหม้เพียงอย่างเดียวคือไอน้ำ ทว่าวิธีการผลิตไฮโดรเจนส่วนใหญ่อาศัยวัตถุดิบตั้งต้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ได้จากซากดึกดำบรรพ์ อย่างถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ เชื้อเพลิงเหล่านี้ก่อเกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม หลายปีที่ผ่านมาก็มีนักวิจัยพยายามคิดค้นวิธีที่จะสร้างไฮโดรเจน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ในอังกฤษ เผยว่า ค้นพบวิธีเปลี่ยนขยะโลหะให้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อสร้างไฮโดรเจนจากน้ำ ซึ่งการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นหนึ่งในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดสำหรับการผลิตไฮโดรเจน เนื่องจากต้องใช้น้ำและไฟฟ้าเท่านั้น ทีมระบุว่าพวกเศษโลหะที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการตัดเฉือนโลหะ จะมีพื้นผิวเป็นขั้นๆ และเป็นร่องเล็กๆ ในระดับนาโน พื้นผิวเหล่านี้สามารถยึดอะตอมของแร่แพลตินัม (ทองคำขาว) หรือโคบอลต์ที่เป็นโลหะแข็งสีเงิน ทำให้เกิดตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนได้
การค้นพบวิธีดังกล่าวบ่งบอกประโยชน์หลักๆ 2 ประการคือช่วยให้ผลิตไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้โลหะมีค่าน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนอีกประการก็คือ ได้รีไซเคิลขยะโลหะจากอุตสาหกรรม เช่น การบินและอวกาศ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องพัฒนาออกแบบวัสดุที่ดีกว่าและก้าวหน้าขึ้นต่อไป.
(Credit : University of Nottingham)