วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะครบรอบหนึ่งปี การเข้ามาครอบครองอาณาจักรทวิตเตอร์ หรือเอ็กซ์ในชื่อปัจจุบันของอีลอน มัสก์ 

หากยังจำกันได้วันแรกของอีลอน มัสก์ ที่สำนักงานใหญ่ทวิตเตอร์ ในเมืองซานฟรานซิสโก เขามาพร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ในมือของเขากำลังถือซิงก์ล้างหน้า ราวกับเป็นสัญญะที่พยายามบ่งบอกอะไรสักอย่าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า อีลอน มัสก์ มีความพยายามต้องการรีแบรนด์ทวิตเตอร์ไปเป็นเอ็กซ์ เพื่อตอบสนองสิ่งเขาต้องการมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังทำงานบริหารบริษัทเพย์พาล (Paypal) โดยที่เอ็กซ์ในเวลานี้ ถูกขนานนามภายใต้นิยาม X, the everything app หรือเอ็กซ์ แอปฯ สำหรับทุกอย่าง

จากทวิตเตอร์ สู่เอ็กซ์
จากทวิตเตอร์ สู่เอ็กซ์

หลังการรีแบรนด์ราว 3 เดือน ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ยกเว้นแค่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกเอ็กซ์ พรีเมียม (X Premium) หรือทวิตเตอร์ บลู (Twitter Blue) เดิม 

...

สิทธิประโยชน์ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา ก็จะมีตั้งแต่การแก้ไขข้อความโพสต์ก่อนหน้านี้ มองเห็นโฆษณาน้อยลง และการถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่เหนือผู้ใช้งานเอ็กซ์ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เสียเงินเป็นเอ็กซ์ พรีเมียม เป็นต้น

นอกเหนือจากนั้นแล้วยังมีฟีเจอร์ใหม่ที่ใกล้คลอดเต็มแก่อย่างการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยความสามารถจำกัดวงการสนทนาเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานเอ็กซ์ พรีเมียม ด้วยกันเท่านั้น 

ในเรื่องของเอ็กซ์ พรีเมียม เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่า จะเสียเงินหรือไม่ก็ตาม แต่จุดที่น่าสงสัยและน่ากังวลไม่น้อย นั่นคือ การเปิดเผยว่า เอ็กซ์มีแนวคิดที่จะเก็บเงินผู้ใช้งานจำนวน “เล็กน้อย” เพื่อต่อสู้กับบอต ซึ่งเรื่องนี้ มัสก์ ได้บอกออกมาระหว่างการสนทนากับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล 

อีลอน มัสก์
อีลอน มัสก์

แนวคิดการเปลี่ยนบริการที่แต่เดิมใช้งานได้ฟรี มาเป็น “เสียเงิน” เป็นสุ้มเสียงที่ดูไม่ดีนักต่อทั้งตัวของอีลอน มัสก์ และแพลตฟอร์มเอ็กซ์เอง อีกทั้งยังทำให้ศรัทธาในตัวอีลอน มัสก์ ของผู้คนที่นับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ และความน่าไว้วางใจของเอ็กซ์ ลดลงไปอีก

ที่สำคัญประเด็นการเก็บเงินเล็กน้อยที่ว่านี้ ลินดา ยัคคาริโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นคนที่มัสก์แต่งตั้งเองกับมือก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เธอเคยบอกว่า มีการพูดคุยกับมัสก์ทุกเรื่อง แต่ในเรื่องสำคัญที่มัสก์บอกว่า จะเก็บเงินผู้ใช้งานทุกคน แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม เธอกลับไม่ทราบเรื่อง

ในช่วงเวลาไม่นานหลังจากนั้น มัสก์ ก็ได้ทำในสิ่งที่เขาเคยบอก นั่นคือ การนำลิงก์ URL ออกจากหน้าไทม์ไลน์ โดยเหลือแค่เพียงข้อความ และรูปภาพเท่านั้น เพื่อให้หน้าไทม์ไลน์สะอาดตา ไม่ดูรก ในสายตาของมัสก์ 

การรีแบรนด์ที่ยังไม่ชัดเจนนัก
การรีแบรนด์ที่ยังไม่ชัดเจนนัก

สิ่งที่อีลอน มัสก์ (รวมถึงซีอีโอของเขา) กำลังทำ จนถึงตอนนี้ยังไม่ดูเข้าใกล้การเป็นแอปพลิเคชันสำหรับทุกสิ่งตามที่เคยบอก ยังไม่ใกล้เคียงกับแนวคิดของแอปพลิเคชันอย่างวีแชต (WeChat) 

สิ่งที่เห็นก็มีเพียงแค่การบอกลา “นกฟ้า” มาเป็นแค่อักษรอัลฟาเบท “เอ็กซ์” ตัวใหญ่ๆ เท่านั้นเอง

...

ภาพ: Reuters, AFP