การมาของ ChatGPT ก่อให้เกิดกระแสการพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ในวงกว้าง และเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence กำลังเข้ามามีบทบาทและปั่นป่วนทุกอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้

ที่งาน Cyber Security Weekend 2023 งานประจำปีสำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC) จัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Deus Ex Machina: Setting Secure Directives for Smart Machines โดยบริษัทแคสปเปอร์สกี้ (Kaspersky) บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จากรัสเซีย 

การประชุมครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมียูจีน แคสเปอร์สกี้ (Eugene Kaspersky) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแคสเปอร์สกี้ เดินทางมาให้ข้อมูลในสัปดาห์แห่งความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วยตัวเองถึงบาหลี

จีน-ออสเตรเลีย-อินเดีย จับจ่าย AI สูงมาก

เอเดรียน เฮีย
เอเดรียน เฮีย

เอเดรียน เฮีย กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ เปิดเผยว่า บริษัทจำนวนมากในเวลานี้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการแสวงหาผลกำไร

...

เอเดรียน เฮีย อ้างข้อมูลจากไอดีซี ระบุว่า ในเวลานี้ประเทศอินเดีย, จีน และออสเตรเลีย เป็นสามประเทศที่มีการจับจ่ายด้านปัญญาประดิษฐ์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก ก็น่าจะตามรอยเทรนด์เดียวกับทั้งสามประเทศข้างต้น

ประเทศจีน มีอัตราการยอมรับในปัญญาประดิษฐ์สูงมาก ครองอันดับหนึ่งในด้านอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 27.9 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปี 2026

ทางด้านออสเตรเลีย มีการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์เป็นอันดับสอง โดยคาดว่าจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2026

ส่วนอินเดีย มีโอกาสที่จะเติบโตด้านปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต และน่ามีการจับจ่ายด้านปัญญาประดิษฐ์ราว 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เอเดรียน เฮีย กล่าวต่อไปว่า แคสเปอร์สกี้ ในฐานะผู้ให้บริการด้านโซลูชันความมั่นคงทางไซเบอร์ มีแนวคิดที่จะเพิ่มความปลอดภัยด้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน สำหรับบริษัทที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายสำคัญตรงที่ไม่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์กระทบต่อมาตรการทางไซเบอร์

พร้อมกันนี้ เอเดรียน เฮีย เชื่อว่า ภายในปี 2026 น่าจะมีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในเอเชียแปซิฟิกราว 65 เปอร์เซ็นต์ภายในองค์กร และธุรกิจทุกประเภท นั่นสามารถกล่าวได้ว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นแนวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์

ตัวเลขล่าสุดของไอดีซี ระบุว่า การใช้จ่ายด้าน AI ของภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 3 ปี จาก 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2026

ปัจจุบันขนาดของตลาดปัญญาประดิษฐ์ในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเกือบ 4 เท่าภายในปี 2028 ที่ 8.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เรื่องของภัยคุกคามทางไซเบอร์ เอเดรียน เฮีย ระบุว่า ขนาดของภัยคุกคามเริ่มค่อยๆ โตขึ้น จากปี 1994 ที่เคยมีอัตราการค้นพบไวรัสที่เป็นภัยต่อคอมพิวเตอร์เพียง 1 ไฟล์ต่อชั่วโมง แต่ในปี 2023 มีการค้นพับไวรัสคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ มากถึง 4 แสนไฟล์ต่อวัน

ความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกแล้ว

ยูจีน แคสเปอร์สกี้
ยูจีน แคสเปอร์สกี้

ต่อมาเป็นการขึ้นเวทีของยูจีน แคสเปอร์สกี้ ซีอีโอของบริษัทแคสเปอร์สกี้ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า Cyber Immunity ซึ่งประกอบด้วยระบบความปลอดภัยที่ประเมินเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จึงมีโซลูชันที่ทำให้เชื่อได้ว่าลดโอกาสการถูกบุกรุกได้ อีกทั้งยังลดโอกาสเกิดช่องโหว่ที่อาจถูกโจมตีได้ ในยุคที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถใช้เทคโนโลยีได้ทุกคน 

ประเด็นภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ยูจีน แคสเปอร์สกี้ ได้ยกตัวอย่างโซลูชันของบริษัทอย่าง KasperskyOS ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติตามวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยในขณะที่สร้างโซลูชัน เช่น การกำหนดเป้าหมาย การสร้างสมมติฐานด้านความปลอดภัย การตรวจสอบให้แน่ใจว่า บรรลุผลสำเร็จในทุกสถานการณ์การใช้งาน การแยกโดเมนความปลอดภัยและการควบคุมการโต้ตอบระหว่างกัน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโซลูชันที่เชื่อถือได้ทั้งหมด

...

ยูจีน แคสเปอร์สกี้ ระบุว่า การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์รูปแบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป งานหลักของแคสเปอร์สกี้จึงต้องการสร้างโลกดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในโลกที่อาชญากรรมทางไซเบอร์ไม่มีพรมแดนของประเทศมาขวางกั้น ดังนั้นแล้วการให้ความสนใจ ความตระหนักรู้ มาตรการกำกับทางกฎหมาย ต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการสืบสวนสอบสวน แม้พวกเขาจะไม่ได้รับความเสียดายใดๆ เลยก็ตาม เพื่อให้อาชญากรทางไซเบอร์ไม่สามารถกระทำการต่างๆ ได้โดยง่าย

ทางด้านภูมิทัศน์ของมัลแวร์ทั่วโลก ยูจีน แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า การตรวจพบมัลแวร์เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน อีกทั้งการโจมตีนับวันก็มีความสลับซับซ้อน และการโจมตีของมืออาชีพก็เริ่มโจมตีไปยังอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งยูจีน แคสเปอร์สกี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีของกลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง REvil (Ramsomeware Evil) 

ทั้งนี้ อาชญากรทางไซเบอร์มีเป้าหมายโจมตีไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ตามด้วยหน่วยงานรัฐบาล และภาคการเงิน โดยห้องปฏิบัติการด้านไวรัส พบว่า มีมัลแวร์ใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายมากถึง 4 แสนรายการในทุกวัน

...

แน่นอนว่า การมี Cyber Immunity มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน อย่างไรก็ดี มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันการโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดีทางไซเบอร์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในภูมิทัศน์บนโลกไอทีมีความเสี่ยงต่อการถูกแฮกได้เสมอ

ยินดีให้ความร่วมมือกับท้องถิ่น

เซียง เทียง โยว
เซียง เทียง โยว

เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า แคสเปอร์สกี้ มีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในความเชี่ยวชาญ ทักษะ การศึกษา และการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

พร้อมกันนี้ แคสเปอร์สกี้ มีความต้องการที่จะร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และจัดโปรแกรมการฝึกอบรม ด้วยการเสริมศักยภาพบุคคลและองค์กรด้วยความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยในระดับภูมิภาค

...

ทางด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความน่ากังวลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 เซียง เทียง โยว ระบุว่า คงเป็นเรื่องของการโจมตีด้วยฟิชชิง (Phishing) ดังนั้นแล้วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับการป้องกันการต่อต้านฟิชชิง ทั้งจากมุมมองทางเทคนิค การตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทั่วไป และมุมมองวัฒนธรรมความมั่นคงปลอดภัย