โรงพยาบาลรามาธิบดีโชว์ศักยภาพ “ดาวินชี (da Vinci Xi)” หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือ Robotic surgery ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าถึงอวัยวะขนาดเล็กภายในเพื่อทำการผ่าตัดและเย็บแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ เพิ่มอัตรา การรอดชีวิตของผู้ป่วย ลดความเจ็บปวดและลดเวลาพักฟื้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 เครื่องในไทย โดยหนึ่งในนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมากว่า 10 ปี

ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี อาจารย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีในหลายโรคด้วยกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน โรคทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะอ้วน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดแบบปกติไม่สามารถทำการรักษาได้ แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

...

“แต่เดิมจนถึงปัจจุบัน การผ่าตัดผู้ป่วยในกลุ่มอวัยวะที่อยู่ลึกในช่องท้อง เช่น ตับอ่อน, ถุงน้ำดี, ต่อมลูกหมาก เป็นต้น แพทย์จะใช้วิธีการที่เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง (Laparo scopic Surgery) ซึ่งแพทย์ต้องเจาะแผลหน้าท้องผู้ป่วย เพื่อสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือเข้าไปตรวจดูอวัยวะภายในขณะทำการผ่าตัด ใช้เวลาเฉลี่ยในการผ่าตัดบางอวัยวะกว่า 8-10 ชั่วโมง และในการผ่าตัดแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก รวมถึงตัวกล้องเอง ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงซอกหรือมุมในอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วย แต่เมื่อมีหุ่นยนต์ดาวินชีเข้ามาช่วย ทำให้ลดเวลาการผ่าตัดลง ลดการใช้บุคลากร รวมถึงตัวแขนกลมีลักษณะเป็นปลายข้อมือที่หมุนได้เหมือนข้อมือมนุษย์ ทำให้เข้าถึงอวัยวะที่อยู่ลึกได้ง่ายขึ้น ขนาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อยลง ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในอวัยวะที่มีเส้นประสาทอยู่เยอะเช่นในต่อมลูกหมาก ลดระยะเวลาในการพักฟื้นลง ทำให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ในการสามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้มากขึ้นและผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น”

ด้าน ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ เปิดเผยว่า ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ย้อนกลับไปกว่า 10 ปีที่แล้ว การผ่าตัดเคสแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยมีแผลเปิด สร้างความเจ็บปวด เสียเลือดเยอะ และใช้เวลาฟื้นตัวนาน วิวัฒนาการต่อมาเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งก็มีความท้าทายเช่นกัน เพราะแพทย์ต้องแม่นยำ รวดเร็ว ละเอียด ด้วยลักษณะการผ่าตัดที่ต้องเจาะรูหน้าท้อง เพื่อสอดกล้องเข้าไปในอวัยวะภายใน ทำให้แพทย์มีข้อจำกัดในด้านมุมมอง

...

จากอุปสรรคตรงนี้ จึงเป็นที่มาของการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชีเข้ามาใช้ สนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้สะดวกมากขึ้น ตัวเลนส์กล้องของหุ่นยนต์ที่สามารถขยายได้ ช่วยให้แพทย์มีวิสัยทัศน์ในการมองภาพอวัยวะภายในที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น โดยในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ จะมีค่าเฉลี่ยเวลาในการผ่าตัดแต่ละครั้งอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมง และแพทย์ในไทยที่เชี่ยวชาญด้านนี้มีจำนวนจำกัด แต่หากมีหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาช่วย จะลดเวลาเหลือที่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น โดยปัจจุบันในกลุ่มโรคที่พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แพทย์มักจะแนะนำวิธีนี้ แต่ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยกว่าหลักแสนบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีอยู่ในตอนนี้ ถือเป็นรุ่นที่มีการใช้งานมามากกว่า 10 ปีแล้ว จึงกำลังมีแผนซื้อหุ่นยนต์ดาวินชีรุ่นใหม่ มูลค่า 130,000,000 บาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยให้ได้องค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดแบบบาดเจ็บรุนแรงน้อยต่อไป.