โลกในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้และจินตนาการผสมผสานกันไป และน่าจะไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้แม่นยำ 100% แต่ที่แน่ๆ เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว น่าจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตของคนในยุคลูกหลาน คุณสมบัติใดบ้างที่จะทำให้เด็กเติบโตและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในยุคปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ครองเมือง เป็นสิ่งที่น่าขบคิดและหาคำตอบ
S-Mom Club ชุมชนสำหรับคนเป็นแม่ เผยทักษะที่จะทำให้เด็กยุคใหม่เติบโตและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกแห่งอนาคต มีอยู่ด้วยกัน 3 เงื่อนไข คือ 1.รู้จักตั้งคำถาม และเลือกข้อมูลที่นำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะในยุค AI มีข้อมูลมหาศาลอยู่บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ก็จริง แต่ข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และข้อมูลที่เป็นโทษปะปนกันไป ทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมี ไม่ใช่การจำเพื่อตอบคำถามให้ถูกต้องเหมือนการเรียนแบบเดิมๆ แต่ต้องมีทักษะการตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง
2.มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ไว รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เพราะในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คนที่จะประสบความสำเร็จได้ คือคนที่ปรับเปลี่ยนได้ไว มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี
...
3. เป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีรายงานว่า เด็กยุคปัจจุบันมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง (จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเรื่อง The Making Caring Common ในปี 2557) เพราะสภาพสังคมในปัจจุบัน เด็กเติบโตในครอบ ครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ขาดโอกาสที่จะฝึกรับรู้ความรู้สึกและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ หรือคนรอบตัว แต่ “ความเห็นอกเห็นใจ” เป็นสิ่งที่มนุษย์ในทุกยุคสมัยต้องการ แม้การจ้างงานในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่เชื่อว่างานที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นแน่นอน ได้แก่ งานที่ต้องใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ดังนั้น ความเห็นอกเห็นใจและความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น จึงจะเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งในอนาคต
ข้อมูลจาก S-Mom Club ระบุอีกว่า เด็กแห่งโลกอนาคตควรมีกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) เพื่อพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ พร้อมกับเป็นคนใจดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น หัวใจหลักในการเลี้ยงดูลูกอยู่ที่สายสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างแม่-ลูก โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงสำคัญที่สุด เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อโลก สร้างความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในใจ
ต่อมาในช่วง 6 ปีแรก เป็นช่วงวัยที่เด็กต้องฝึกใช้ร่างกายของตนเองให้เพียงพอในทุกมิติ ทั้งเดิน วิ่ง การปีนป่าย กระโดดโลดเต้น ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน ฝึกการใช้นิ้วมือทุกนิ้วผ่านการเล่น เช่น การปั้นแป้ง การขยำ ฉีก สัมผัส ระบายสีอิสระ (ไม่ใช่การฝึกคัดลายมือ) จะช่วยให้สมองเด็กพัฒนาได้เต็มที่ ที่สำคัญเด็กที่ได้ใช้ร่างกายของตนเองเต็มที่ จะรู้จักการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ตามศักยภาพของตนเอง รู้จักประเมินตัวเองตามสถานการณ์ ได้ฝึกการควบคุม การยับยั้ง ปรับแผนให้เด็กได้คิดและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค หากมิใช่เรื่องที่เป็นอันตราย ลองตอบสนองและเข้าไปช่วยเหลือ
ให้ช้าลงสักนิด เพื่อมองเห็น “พฤติกรรมการแก้ปัญหา” ของลูก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการเติบโตของเด็ก พ่อแม่ควรทำหน้าที่เหมือนโค้ช คอยชี้แนะ แต่ไม่ครอบงำ ไม่แย่งแก้ปัญหาให้ลูก เพราะสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในอนาคต
นอกจากนั้น ยังต้องฝึกให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยการฝึกสะท้อนอารมณ์ให้กับลูก เพราะก่อนที่ลูกจะเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นได้ เขาต้องเข้าใจความรู้สึกของตัวเองก่อน วิธีการฝึกสะท้อนอารมณ์ คือการเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงอารมณ์ และพ่อแม่สะท้อนอารมณ์ให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่รู้สึกอยู่ ณ ตอนนั้น คืออารมณ์เศร้า โกรธ น้อยใจ อิจฉา เป็นต้น.