รอยัล ฟิลิปส์ (Royal Philips) เผยผลสำรวจครั้งล่าสุด พบการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ เน้นเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามายกระดับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้ไปร่วมงาน Philips Future Health Index 2023 (FHI) ในหัวข้อ "Taking Healthcare Everywhere" ซึ่งเป็นการรายงานผลสำรวจที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผลสำรวจเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ จำนวน 3,000 คน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่มีความก้าวหน้าด้านการแพทย์สูง จัดโดยฟิลิปส์ บริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
ภายในงาน แครอไลน์ คลาร์ก ซีอีโอ และรองประธานบริหาร ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเน้นไปที่การกระจายบริการด้านสาธารณสุข ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อกับการให้บริการทางสาธารณสุขของผู้ป่วยมากขึ้น
...
เทคโนโลยีที่จะเชื่อมต่อระบบนิเวศด้านสาธารณสุข ประกอบไปด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), อินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) และคลาวด์คอมพิวติง เพื่อประมวลผลข้อมูลผู้ป่วย เป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปวิเคราะห์ วินิจฉัย และหาแนวทางในการดูแลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของการให้บริการผู้ป่วยเฉพาะทาง ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะวิกฤติ รวมถึงระบบการแพทย์ทางไกล เป็นต้น
ระบบนิเวศด้านสาธารณสุขที่นำมาเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี จะทำให้การบริการสาธารณสุขขยายออกจากภายในโรงพยาบาลไปสู่ระบบออนไลน์ หรือสถานที่ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากขึ้น เช่น บ้าน หรือชุมชน เครือข่ายคลินิกผู้ป่วยนอก และศูนย์สุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile care solutions)
นอกเหนือจากนี้ ผลสำรวจของ Future Health Index ที่ได้สอบถามไปยังผู้ให้บริการด้านแพทย์ในเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ต้องการลงทุนบันทึกดิจิทัลด้านสุขภาพมากที่สุด และ 74 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ต้องการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เอไอช่วยวิเคราะห์ผลลัพธ์ผู้ป่วยต่อแผนการรักษา ความแม่นยำด้านการดูแลสุขภาพ
พร้อมกันนี้ ในรายงานของ FHI ได้กล่าวถึงโรงพยาบาลแห่งอนาคตเอาไว้ด้วย โดยสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นโรงพยาบาลแห่งอนาคตนั่นคือ การประมวลผลข้อมูลขนาดมหาศาลอย่างบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อช่วยประมวลผลข้อมูลผู้ป่วยไปเป็นข้อมูลเชิงลึก และการดูแลรักษาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Clinical Command Center และ Digital Twin
ทั้งนี้ Clinical Command Center หรือศูนย์ควบคุมและสั่งการด้านสาธารณสุขที่บูรณาการข้อมูลของผู้ป่วยทั้งจากในและนอกโรงพยาบาลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในผลสำรวจของฟิลิปส์ให้ความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมข้อมูลด้านคลินิกของผู้ป่วยและด้านการจัดการผู้ป่วยเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการตัดสินใจในการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแบ่งทรัพยากรอย่างเหมาะสมลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพิ่มการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และสามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยได้มากขึ้น
ต่อมาเป็นเรื่องของ Digital Twin หรือแพลตฟอร์มการจำลองด้านการรักษาด้วยบิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นโมเดลที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา โดยมีคอนเซปต์เพื่อการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้านดิจิทัลของผู้ป่วยทุกครั้งจากการเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของโรค และแนวโน้มการตอบรับต่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค การวินิจฉัยที่แม่นยำ และเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการรักษาที่ดีขึ้น ซึ่งฟิลิปส์ได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา
...
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีต้องสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยคีธ ไบรตัน ประธานฝ่าย Services and Solutions Delivery Growth Region ของฟิลิปส์ กล่าวว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา 72 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย เป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชันสีเขียว อีกทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ในระดับ 0 เปอร์เซ็นต์ จากกระบวนการทำงานที่มีการนำเทคโนโลยีแบบหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการดำเนินงานถึง 77 เปอร์เซ็นต์ และมีการจัดการขยะแบบหมุนเวียนได้ถึง 91% รวมถึงโรงงาน 23 แห่งของฟิลิปส์ มีอัตราการปล่อยขยะมูลฝอยออกสู่ภายนอกในระดับ 0 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
ในเวลาเดียวกัน บริการของฟิลิปส์ได้ช่วยให้โรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตรทางการค้า สามารถดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนได้อีกด้วย โดย 47 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของฟิลิปส์ในปี 2022 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.
...