กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ออปโป้ ประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปี ในการบุกเข้ามาทำตลาดประเทศไทย โดยยุทธศาสตร์หลังจากนี้ของออปโป้มีด้วยกันหลายประเด็น หนึ่งในนั้นก็คือ การสร้างความยั่งยืนในฐานะองค์กรที่เป็นหนึ่งในพลเมืองโลก
ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้แห่งประเทศไทย
ชานนท์ เล่าให้ฟังว่า ในช่วง 3 ปีหลังสุด ออปโป้ ได้มีการจัดทำรายงานที่มีชื่อว่า Sustainability Report โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดเผยแผนรายงานและความคืบหน้าด้านความยั่งยืนสู่สาธารณะ
ออปโป้ ได้วางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่ การดําเนินงานและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การดูแลพนักงาน, การพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณธรรม และการมีส่วนร่วมของระบบนิเวศ
พร้อมกันนี้ ในปี 2023 ออปโป้ ได้เพิ่มด้านการบูรณาการแนวคิด ด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับวงจรชีวิต ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
...
ชานนท์ เล่าต่อไปว่า นั่นจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของออปโป้ จะต้องเป็นไปตามหลักการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนตามมาตรการ “3R+1D” กล่าวคือ มีการลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ลง มีการนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้งานใหม่ อีกทั้งการใช้วัสดุที่ว่านี้ต้องสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมาเป็นบรรจุภัณฑ์
ในปี 2022 ที่ผ่านมา ออปโป้ ได้ใช้วัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว หันมาใช้เส้นใยรีไซเคิลราว 45 เปอร์เซ็นต์ และมีการร่วมมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิล เข้ามาช่วยรีไซเคิลสมาร์ทโฟนในประเทศจีน จำนวนกว่า 1 ล้านเครื่อง น้ำหนักรวม 195 ตัน
ในเวลาเดียวกัน ออปโป้ ได้วางแผนพัฒนามาตรการลดปริมาณคาร์บอนลง พร้อมกับต้องการบรรลุแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้าอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้แล้ว ในวาระครบรอบ 15 ปี การเข้ามาทำตลาดของออปโป้ ในประเทศไทย ออปโป้ได้เริ่มโครงการที่มีชื่อว่า Think Green เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียว เพิ่มการปลูกต้นไม้ และหวังให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และดีขึ้น
สำหรับพันธกิจของออปโป้ ชานนท์ กล่าวว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ควรมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี มอบชีวิตที่ชาญฉลาดสําหรับผู้ใช้ทั่วโลก กล่าวคือต้องเป็น Technology for mankind, kindness for the world
ขณะที่แบรนด์ออปโป้ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตลอดช่วงเวลา 15 ปี ชานนท์ เปิดเผยว่า ออปโป้อยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอด เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวมือถือฟีเจอร์โฟน กระทั่งมาสู่ยุคของสมาร์ทโฟน Oppo Find 3 ที่มีลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ เป็นพรีเซนเตอร์ และสมาร์ทโฟนที่บางสุดในยุคนั้นอย่าง Oppo Finder ก่อนที่มาถึงยุคของอุปกรณ์ IoT
ชานนท์ ย้อนความหลังว่า สิ่งที่ยากที่สุดของออปโป้ก็คือช่วงเริ่มต้นแบรนด์เมื่อ 15 ปีก่อน เนื่องจากว่าออปโป้เป็นแบรนด์ใหม่ ไม่มีใครรู้จัก อีกทั้งความเป็นแบรนด์จากประเทศจีนจึงทำให้ผู้บริโภคชาวไทยในเวลานั้นไม่มั่นใจมากนัก
“สิ่งที่ยากก็คือความคิดที่ว่าแบรนด์จีนเป็นของไม่ดี”
ดังนั้นแล้ว ในช่วง 5 ปีแรกที่ออปโป้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยก็คือการสร้างความเชื่อมั่นของแบรนด์ที่มีต่อผู้บริโภคนั่นเอง
...
อย่างไรก็ตาม ในอีก 10 ปีให้หลัง ชานนท์ บอกว่า ออปโป้ในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แบรนด์ออปโป้ กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อหาเป็นเจ้าของ โดยมีจุดแข็งในด้านประสบการณ์ใช้งานที่ดี และวัสดุประกอบงานที่มีคุณภาพ รวมถึงยังมีความแข็งแกร่งของการเป็นแบรนด์ที่ให้ความจริงจังต่อการให้บริการหลังการขาย
“สิ่งสำคัญของออปโป้คือการที่เรามีศูนย์บริการเป็นจำนวนมากอย่างเดียวไม่ได้ แต่ศูนย์บริการต้องซ่อมได้ ต้องมีช่าง มีวิศวกรคอยทำหน้าที่แก้ไขให้กับเครื่องของลูกค้าให้ได้” ชานนท์ กล่าวปิดท้าย