"อธิการ สจล." นำทีมลุยฝรั่งเศสศึกษากิจการอวกาศ หวังนำข้อมูลประยุกต์การเรียนการสอน-พัฒนาบุคคลากรด้านอวกาศ "เศรษฐพงค์" เผย สจล.เตรียมส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ สำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ย้ำ "ECSTAR" พร้อมเป็นผู้นำประสานร่วมมือภาคเอกชน ระบุไทยควรมี Road Map จริงจังพัฒนากิจการอวกาศ

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.66 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สลจ. และ ผศ.ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) พร้อมตน นายชาญวิทย์ มุนิการนนท์ รักษาการผู้อำนวยการ ECSTAR นายบัณฑิต สะเพียรชัย ที่ปรึกษา ECSTAR 6 ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะ กมธ.ดีอีเอส น.ส.แคทลียา เดลแมร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯและคณะ ได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ตามที่ นายตีแยรี่ มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้เชิญให้คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เยี่ยมชมเมืองอวกาศตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส 2566 (Thai-French Year of Innovation 2023) โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกมธ.ดีอีเอส ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ตนในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส เป็นตัวแทนเดินทางไปเยี่ยมชมในนามศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) เมื่อเดินทางไปถึงเราได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินกิจการอวกาศของภาครัฐ ณ องค์การอวกาศฝรั่งเศส (CNES) และภาคการศึกษา ณ สถาบัน ISAE-SUPAERO จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมภาคเอกชนรายใหญ่ของตูลูส ได้แก่ บริษัท Thales Alenia Space และ บริษัท Airbus Defence and Space ตลอดจนรับฟังการบรรยายจากบริษัทน้อยใหญ่ อาทิ บริษัท Hemeria และกลุ่มระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ Aerospace Valley

...

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนตูลูสในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นความจริงใจที่ประเทศฝรั่งเศสได้มอบให้ประเทศไทย และความตั้งใจที่จะร่วมสร้างนวัตกรรมอวกาศร่วมกัน โดยองค์การอวกาศฝรั่งเศสได้นำเสนอโร้ดแมปการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและแผนการสำรวจอวกาศ อาทิ ดวงจันทร์ และดาวอังคาร รวมทั้งภาคเอกชนได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมอาคารทดสอบประกอบดาวเทียม ที่มีความทันสมัยและพาเข้าเยี่ยมชมดาวเทียมไทย ภายใต้โครงการธีออส 2 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ซึ่งพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งภายในปี 2566 ตลอดจนการบรรยายระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของเมืองตูลูสทั้งหมด ณ Aerospace Valley ทำให้เห็นจำนวนบริษัทน้อยใหญ่ในตูลูส ที่มีความหลากหลายในความสามารถ ทั้งกลุ่มบริษัทต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวนกว่าหลายร้อยบริษัท โดยเราจะได้สรุปผลการศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนากิจการอวกาศในไทยอย่างจริงจังต่อไป โดยทาง ECSTAR จะทำหน้าที่เป็นองกรณ์หลักของภาคการศึกษา ที่จะได้ดำเนินความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

"เห็นได้ว่าฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับกิจการอวกาศอย่างไรมาก ซึ่งประเทศไทยเองโดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรามีควรมีนโยบายที่เป็นโรดแมปนำไปสู่เป้าหมายด้านกิจการอวกาศอย่างจริงจัง เช่น พัฒนาสเปซ พอร์ต ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หรือการยิงกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก (Low Earth Orbit) ที่ สจล.มีแผนที่จะดำเนินการเรื่องนี้แล้ว เพื่อตรวจสอบและรายงานสภาพสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติได้" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า สจล.ได้ให้ความสำคัญในกิจการอวกาศและการส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนนักเรียนและนักศึกษา มีความรู้ความสามารถในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และการสร้างหลักสูตรความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมกับสถาบัน ISAE-SUPAERO และการถ่ายทอดความรู้จากภาคเอกชน อาทิ การฝึกงานกับบริษัทแอร์บัส ตลอดจนการพัฒนา สจล. วิทยาเขตชุมพร ให้เป็นอุทยานการบินและอวกาศ Thailand Aerospace Valley (TAV) เพื่อยกระดับเทคโนโลยีอวกาศและเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาจรวด Sounding Rocket แห่งแรกในประเทศต่อไป และจะนำผลการศึกษาดูงานในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาต่อไป เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรที่สำคัญในอนาคต