"เศรษฐพงค์" เผย "สจล.-ECSTAR" เตรียมบินฝรั่งเศส ดำเนินความร่วมมือกิจการอวกาศ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ CNES เรียนรู้อุตสาหกรรมอวกาศใน "Aerospace Valley" เล็งนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศ สร้าง "Space Hub" ยกระดับเศรษฐกิจ-ธุรกิจอวกาศระยะยาวและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.66 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) หรือ ศอว. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า หลังจากที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) และคณะฯเข้าหารือกับ กมธ.ดีอีเอส ที่รัฐสภา เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงการดำเนินกิจกรรมเนื่องในปีแห่งนวัตกรรมไทย–ฝรั่งเศส 2566 หรือ Thai-French Year of Innovation 2023 ที่มีประเด็นสำคัญด้านการส่งเสริมความร่วมมือ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและกิจการอวกาศไทย-ฝรั่งเศส เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศ พร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตได้เชิญ พ.อ.เศรษฐพงค์ ไปเยือนเมืองตูลูส ศูนย์กลางด้านอวกาศของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมชมกิจการอวกาศและสร้างความร่วมมือต่างๆ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคณะเดินทางนำโดยผู้บริหาร สจล. โดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีฯ และ ECSTAR โดย พ.อ. เศรษฐพงค์ ประธาน ECSTAR ที่จะร่วมเดินทางไปตามคำเชิญดังกล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศส มีความจริงจังที่จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสองประเทศ และได้เชิญ กมธ.ไปเยี่ยมชมกิจการด้านอวกาศทั้งหมด โดยสถานทูตฝรั่งเศสจัดให้มีการเยี่ยมชมภาคเอกชนต่างๆ อาทิ บริษัท แอร์บัส (Airbus Defence and Space) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอวกาศ ผู้ผลิตเครื่องบิน อากาศยาน และอวกาศยาน และร่วมหารือแนวทางความร่วมมือกับองค์การศึกษาวิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส The National Centre for Space Studies หรือ CNES (Centre National d’Etudes Spatiales) รวมทั้งการเยี่ยมชมระบบนิเวศน์สำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Valley จากบริษัทอวกาศชั้นนำในเมืองตูลูส

...

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างเช่น อากาศยานไร้คนขับ ดาวเทียม จรวดนำส่ง และการพัฒนายานอวกาศ รวมถึงแอปพลิเคชันการประมวลผลข้อมูลด้านอวกาศ (data analytics) และอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับเรา ที่จะได้ศึกษาในเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งการพัฒนาสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในกลุ่มองค์กรอวกาศยุโรป หรือ European Space Agency (ESA) และจะนำกลับมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย ให้พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากประเทศไทยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงอวกาศ ซึ่งหากได้รับความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีอวกาศที่แท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างให้เกิดเศรษฐกิจและธุรกิจอวกาศระหว่างไทย-ฝรั่งเศสได้ในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป

"ต่างประเทศเขามองว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางภูมิภาคและรู้ว่าไทยสนใจในเรื่องของกิจการและเศรษฐกิจอวกาศ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างที่ จ.ชุมพร ที่หลายประเทศมองว่าเหมาะที่จะทำสเปซพอร์ต ซึ่งเรากำลังหาทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ สจล. วิทยาเขตชุมพร ให้เป็นที่ทดสอบและทดลองปล่อยจรวด ซึ่งเราอาจจะเริ่มจากขนาดเล็กๆก่อน อย่างจรวดความเร็วสูง sounding rocket และพัฒนาต่อทำให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ทาง กมธ.ดีอีเอส ได้มีโครงการต่างๆหลายแห่ง ในการพัฒนาบุคคลากรและสร้างศูนย์การเรียนรู้ พร้อมจัดทำโครงการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก หรือดาวเทียมคิวบ์แซทที่ดำเนินการโดย ECSTAR ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาสร้างและส่งดาวเทียม CubeSat ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการไปเยือนฝรั่งเศสของเราในครั้งนี้ ก็หวังว่าเราจะได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศของเราต่อไป" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว