การรายงานผลประกอบการประจำปี 2565 ของหัวเว่ย (Huawei) ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ การประกาศปูพรมมุ่งหน้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด
เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) คนใหม่ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งนี้เมื่อสองเดือนที่แล้ว ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์แบบกลุ่มปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า พลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ปีที่แล้วธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของหัวเว่ยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่น่าสนใจ เดวิด หลี่ ระบุด้วยว่า ในอนาคตหัวเว่ยมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในประเทศไทย ภายใต้พันธกิจที่มีชื่อว่า “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย และร่วมสนับสนุนประเทศไทย” (Grow in Thailand, contribute to Thailand)
เดวิด หลี่ กล่าวต่อไปว่า ในขั้นแรกจะเปิดตัวโครงการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเหล่าวิศวกรด้านพลังงานสะอาดจำนวน 10,000 คน ภายในเวลา 3 ปี จากนั้นในช่วงตลอดครึ่งปีแรกของปี 2566 หัวเว่ยมีแผนที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ผ่านความร่วมมือกับ SME
...
ในส่วนกลยุทธ์ด้านพลังงานสะอาด หัวเว่ยเน้นกลุ่มที่อยู่อาศัยและองค์กรเชิงพาณิชย์ โดยในเวลานี้อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อตกลงกับบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล เพื่อพิจารณาการสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น โซลาร์ฟาร์ม เป็นต้น
“หัวเว่ยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่นี้ได้เพียงลำพัง แต่ต้องการความร่วมมือจากเหล่าพาร์ทเนอร์จำนวนมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายธุรกิจ รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของประเทศ”
เดวิด หลี่ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะเรื่องของแสดงแดดที่มีจำนวนมากกว่า 2,600 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาไปได้อีกไกล
ปั้น 5 หน่วยธุรกิจ
แผนงานของ เดวิด หลี่ ในฐานะผู้กุมบังเหียนหัวเว่ยในประเทศไทย มุ่งสร้างการเติบโตของ 5 หน่วยธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจผู้ให้บริการ (Carrier) ซึ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G หน่วยธุรกิจนี้มีเติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เติบโตเต็มที่และมีเสถียรภาพมากที่สุด
อย่างที่สองคือ EBG (Enterprise Business Group) หรือกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ (Enterprise) โดยนำเทคโนโลยีหัวเว่ยมาเสริมศักยภาพการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ธุรกิจที่สามคือคลาวด์ ต่อด้วยธุรกิจที่สี่คือเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และธุรกิจที่ห้าคือธุรกิจคอนซูเมอร์ (Consumer) ซึ่งเน้นไปที่อุปกรณ์และแก๊ดเจ็ต
ในแง่ของความท้าทาย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลต้องใช้วิศวกรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพจำนวนมาก โดยในช่วงที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทุ่มทรัพยากรเพื่อยกระดับบุคลากรด้านไอซีที ยกตัวอย่างเช่น การเปิดศูนย์ ICT Academy เพื่อบ่มเพาะศักยภาพด้านดิจิทัล และการผลักดัน ASEAN Academy เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านไอซีที
...
เดวิด หลี่ เน้นย้ำว่า การสร้างงานและการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาสำหรับวิศวกรไทยในอนาคต, สตาร์ทอัพ และพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย นับเป็นความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจที่น่าตื่นเต้นของหัวเว่ย
เมื่อพูดถึงตลาดในประเทศไทย ก็คงไม่ถามถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ซึ่งเดวิด หลี่ ให้ความเห็นว่า หัวเว่ยคาดการณ์ในเชิงบวก โดยคำนึงจากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งหัวเว่ยยังมีหน่วยธุรกิจที่จะไปต่อ เช่น ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์, กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ และกลุ่มธุรกิจคลาวด์
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เดวิด หลี่ เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มที่ดีมาก นอกจากนี้ หัวเว่ย จะมองหาโอกาสที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในอนาคต.