สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่อบริการ “เรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน” พบ 98.3% พึงพอใจต่อบริการ ขณะที่ 89.3% เรียกใช้บริการเฉพาะแอปที่ถูกกฎหมายเท่านั้น และเกือบ 1 ใน 3 อยากให้ปรับปรุงราคาเพราะแพงไป

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) สำรวจความคิดเห็นคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 512 คน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ระหว่างวันที่ 21-30 มี.ค.2566 ผลการสำรวจพบว่า กว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้บริการเรียกรถผ่านแอป โดยส่วนใหญ่หรือ 89.3% เลือกใช้บริการที่ถูกกฎหมาย ต้องเป็นแอปที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก อันได้แก่ AirAsia, Bonku, Cabb, Grab, Hello Phuket และ Robinhood เท่านั้น

ในด้านของความพึงพอใจ 98.3% ของผู้ใช้รู้สึกพึงพอใจต่อบริการ โดยเฉพาะในด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัย มาตรฐานด้านราคา รวมถึงมาตรฐานการให้บริการ เช่น ชอบที่มีการแสดงราคาล่วงหน้าผ่านแอป และมีการกำหนด ราคาตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก, อุ่นใจในมาตรฐานและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของแอปเรียกรถ เช่น มีระบบติดตามการเดินทาง มีระบบคัดกรองและยืนยันคนขับ หรือการทำประกันคุ้มครองผู้โดยสาร รวมทั้งพอใจกับมาตรฐานการให้บริการ เช่น มีระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือมีระบบการให้คะแนนคนขับ

...

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามถึงการพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้บริการโดยรวม, ความปลอดภัย, มาตรฐานของคนขับ เช่น มารยาท

เกือบ 1 ใน 3 ของผู้ใช้บริการ หรือราว 31.5% ต้องการให้ปรับปรุงด้านราคา โดยมองว่าค่าบริการค่อนข้างสูง ขณะที่บางแอปพลิเคชัน โดยเฉพาะเเอปเถื่อน ไม่มีมาตรฐานด้านราคา เช่น ราคาที่แสดงก่อนใช้และหลังใช้บริการไม่ตรงกัน หรือมีกรณีที่คนขับแอบเปลี่ยนราคาให้ค่าบริการแพงขึ้น

และเมื่อสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อบริการเรียกรถผ่านแอปที่ไม่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก เกือบครึ่งราว 45.7% รู้สึกว่าการใช้บริการผ่านแอปเถื่อนมีความเสี่ยงสูง เพราะได้ยินข่าวเกี่ยวกับมิจฉาชีพหรืออาชญากรรมจากการใช้บริการอยู่บ่อยครั้ง, กรณีเกิดปัญหาใดๆอาจไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีผู้รับผิดชอบ และแม้ค่าบริการถูกกว่าแอปที่ได้รับการรับรอง แต่หากเกิดอะไรขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมของธุรกิจ โดยผู้ใช้บริการมากกว่า 1 ใน 3 หรือราว 35.5% ต้องการให้ภาครัฐสั่งให้แอปเถื่อนหยุดให้บริการจนกว่าจะได้รับการรับรองและมีการลงโทษอย่างจริงจัง ส่วนอีก 46.7% ต้องการให้ออกมาตรการเร่งรัดให้เเอปเถื่อนเข้าระบบอย่างถูกกฎหมาย

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแอปพลิเคชันเรียกรถที่ชาวต่างชาติมักเลือกใช้บริการ คือ แอปที่เคยใช้ในประเทศของตนมาก่อน หรือเป็นแอปที่มีการแนะนำปากต่อปาก โดยอาจไม่รู้ว่าแอปเหล่านั้นให้บริการอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อถามถึงประสบการณ์เชิงลบที่เคยสัมผัสจากการใช้บริการดังกล่าวพบว่า นักท่องเที่ยวบางส่วนเคยเจอคนขับที่ไม่มีมารยาท มีประสบการณ์ลืมของบนรถแล้วไม่ได้คืนหรือไม่สามารถติดต่อคนขับได้ รวมถึงราคาของบางแอปพลิเคชันที่สูงขึ้นหลังเดินทางไปแล้ว อย่างไรก็ดีเกือบทั้งหมดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระบุว่าต้องการใช้เเอปเรียกรถที่ถูกกฎหมาย เพราะกังวลเรื่องมาตรฐานเเละความปลอดภัย เเต่ก็ยังไม่ทราบว่าเเอปไหนถูกกฎหมายหรือได้รับการรับรองแล้วในประเทศไทย.