เกม 606 Echo Chamber หรือในภาษาไทยที่มีชื่อว่า 606 โรงเรียนเสียงสะท้อน เปิดตัวออกมาได้ราวหนึ่งเดือนแล้ว โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเกมนี้ก็คือ บริษัทโอเพนดรีม ที่เคยฝากผลงานกับแพลตฟอร์มสังเกตการณ์บรรยากาศการเลือกตั้งในปี 62 ในชื่อ Vote62 และเกม 606 Fake News

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ เก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา เกี่ยวกับเบื้องหลังการพัฒนาเกม 606 Echo Chamber ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเกมนี้ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายที่มีต่อเกมนี้ และเมื่อตัวเกมถูกปล่อยออกไปแล้วผลการตอบรับที่ได้เป็นอย่างไร

ปฏิพัทธ์ บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า โดยพื้นฐานแล้วตัวเขาเป็นคนที่ชอบเล่นเกมอยู่ก่อนแล้ว เพราะการเล่นเกมทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ อีกทั้งตัวของปฏิพัทธ์ยังมีแรงผลักดันจากในช่วงที่ยังเป็นเด็ก ได้ถูกผู้ใหญ่ห้ามเล่นเกม เพราะมีความคิด ความเชื่อว่า เกมเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ได้ความรู้

“เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อโตมา สิ่งที่อยากทำก็คืออยากทำเกมที่เอาไว้ฟาดหน้าคุณครูในสมัยก่อน ตอนที่ยังเป็นเด็ก นับเป็นแรงผลักดันด้วยความแค้น” ปฏิพัทธ์ กล่าวด้วยเสียงหัวเราะ

ปฏิพัทธ์ ยกตัวอย่างเกม Angry Birds โดนบอกว่าเป็นตัวอย่างเกมที่น่าสนใจ เพราะเกมนี้ไม่ใช่แค่เกมเล่นเอาสนุกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเกมที่ทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้หลักทางฟิสิกส์แบบอ้อมๆ

แรงผลักดันต่อมา เป็นเรื่องของการเรียนรู้บางประเภทที่ไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่ “ใหม่” เกินกว่าห้องเรียนในโรงเรียน อีกทั้งระบบการศึกษาในห้องเรียนก็เป็นเรื่องที่เน้นด้านวิชาการ นั่นจึงทำให้การเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ทักษะชีวิต” ที่ไม่สามารถวัดผลทางการศึกษาจึงไม่มีที่ลง

...

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา
ปฏิพัทธ์ สุสำเภา

ปฏิพัทธ์ ย้อนความหลังต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีก่อน ในสังคมไทยเริ่มมีการพูดถึงคำว่า “Fake news” หรือข่าวปลอมในวงกว้างมากขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดที่อยากจะทำเกมที่กระตุ้นการเรียนรู้เกี่ยวกับข่าวจริง-ข่าวปลอม เพราะมันน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ จนนำมาสู่การพัฒนาเกมที่ทำให้ผู้คนตระหนักรู้ว่าต้องตรวจสอบข่าวอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร สังเกตอย่างไร ซึ่งถือเป็นเกมภาคแรกก่อนการมาถึงของ 606 Echo Chamber

“คำว่า Echo Chamber เป็นคำที่น่าสนใจ เป็นสภาวะที่ทำให้ผู้คนเกิดความไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในสภาวะนี้” ปฏิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า 606 Echo Chamber พยายามทำให้ “ผู้เล่น” เป็นหนึ่งในตัวละคร เป็นส่วนหนึ่งของเกม ด้วยสมมติฐานนี้ผู้เล่นจะซึมซับผลกระทบของทั้งข่าวลวง ข่าวปลอมที่อยู่ใน Echo Chamber ได้ดีขึ้น

“ถ้าหากได้ลองเล่นเกมนี้ เราได้สร้าง Echo Chamber ที่น่าจะสอดคล้องกับอคติของผู้เล่นแต่ละคน แล้วลองขังผู้เล่นเอาไว้ใน Echo Chamber ของตัวเอง จากนั้นให้ลองมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีกระบวนการคิดอย่างไร”

ทั้งนี้ เนื้อเรื่องของเกม 606 โรงเรียนเสียงสะท้อน เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ผู้เล่นต้องหาข้อมูลท่ามกลางความขัดแย้งในโรงเรียนที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยภารกิจที่ผู้เล่นได้รับคือต้องสืบหาความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ด้วยการปฏิสัมพันธ์กับตัวละครต่างๆ ในโรงเรียน ข้อมูลที่จะได้รับจะมาจากการพูดคุย สำรวจ และโพสต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดียของเกม

เกม 606 โรงเรียนเสียงสะท้อน
เกม 606 โรงเรียนเสียงสะท้อน

พร้อมกันนี้ผู้เล่นต้องสืบหาข้อมูลและต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาว่าเชื่อถือได้หรือไม่ และเมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วจะทำอย่างไรต่อข้อมูลนั้น เพื่อให้ตัวผู้เล่นสามารถรับมือกับสภาวะ Echo Chamber ได้ และไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Echo Chamber

“แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งว่าถึงที่สุดแล้ว คนส่วนหนึ่งไม่รู้จัก Echo Chamber” ปฏิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่ตัวเกมจะปล่อยออกมาให้เล่น ผมได้ลองทำโฟกัสกรุ๊ปกับบุคคลที่น่าจะเป็นผู้เล่นของเกมนี้ โดยมีคำถามที่ถามว่า รู้จัก Echo Chamber หรือไม่

...

คำถามต่อมา เมื่อเล่นเกมนี้จบแล้วสามารถหาทางออกจาก Echo Chamber ได้หรือไม่ และคำถามที่สาม ถ้าอยู่ในสภาวะ Echo Chamber ควรบอกคนรอบข้างอย่างไร

“อันที่จริงเรื่องของการออกจาก Echo Chamber จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก แค่ตระหนักว่าเราอยู่ใน Echo Chamber หรือไม่ แต่กว่าที่จะตระหนักได้ว่าเราอยู่ใน Echo Chamber นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องสู้กับอคติที่ตัวของเรามีต่อประเด็นนั้นๆ”

อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปคนก็อยู่ Echo Chamber อยู่แล้วไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเอาง่ายๆ ก็คือ เรื่องของเพลงที่เราฟัง หรือหนังสือที่เราอ่าน แต่ในโลกออนไลน์มีสิ่งที่เรียกว่าอัลกอริทึม ซึ่งทำให้มันแข็งแกร่งขึ้น

606 Echo Chamber
606 Echo Chamber

ในประเด็นของ Echo Chamber ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การว่าด้วยทฤษฎีของ Echo Chamber ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง-Cognitive bias อคติที่อยู่ในหัวของเรา สอง-Filter bubble ซึ่งถูกขยายผลโดยอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย และสาม-Circular reporting การเชื่อถือในข้อมูลที่ถูกแชร์โดยคนที่มีชื่อเสียงในทันที ไม่ผ่านการฉุกคิด ซึ่งทฤษฎีของ Echo Chamber ทั้งสามอย่างได้ถูกจำลองในรูปแบบของเกม 606 Echo Chamber นั่นเอง

...

เมื่อถามถึงขั้นตอนการพัฒนาเกม 606 Echo Chamber ใช้เวลาในการพัฒนานานถึงหนึ่งปีครึ่ง ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่ส่วนที่เป็นเกม หากแต่เป็นการเขียนเนื้อเรื่อง เพราะการดำเนินเรื่องของเกมจะเป็นเนื้อหาเดียวกัน แต่มาจากมุมมอง (Perspective) ที่แตกต่างกัน การสร้างเนื้อหาในส่วนนี้ให้สมดุลจึงเป็นเรื่องที่มีความยากไม่น้อย

สำหรับผลตอบรับหลังจากที่ตัวเกมปล่อยให้ลองเล่นเป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษๆ ตัวเกมมียอดผู้เล่นอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นคน ซึ่งก็ถือเป็นครึ่งหนึ่งของเป้าที่วางเอาไว้ ในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังการเปิดตัว

“อันที่จริงถ้ามีเวลาก็อยากที่จะทำ DLC (Downloadable content) เพื่อขยายเนื้อหาของเกม แต่ถ้าจะทำจริงๆ ก็คงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีเลยทีเดียว” ปฏิพัทธ์ กล่าวปิดท้าย

606 Echo Chamber มีให้ดาวน์โหลดทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android