CUD Hackathon 2023 งานแฮกกาธอนครั้งแรกของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้มีงานเสวนาที่พูดถึงการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน และในเวลาเดียวกันต้องตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งาน
ที่งาน CUD Hackathon 2023 ได้จัดงานเสวนาเพื่อมอบองค์ความรู้ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้กับผู้เข้าร่วมแฮกกาธอนทั้ง 29 ทีม
การบรรยายหัวข้อแรกเป็นเรื่อง “การออกแบบพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงถึงหลักความยั่งยืน” โดย ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประเด็นสำคัญที่ ดร.พิสุทธิ์ เน้นย้ำใน 4 ประเด็นก็คือ ใหม่ ดี มีคนใช้ และเข้าใจโลก
เมื่อแตกย่อยเป็นแต่ละประเด็น คำว่ามีคนใช้ คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าหากไม่มีคนใช้ก็ขายไม่ได้ ดังนั้นแล้วการทำความเข้าใจผู้ใช้งานจึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษ
...
ต่อมาคือคำว่า ดี กล่าวคือ ต้องดีทั้งในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อสองสิ่งรวมกัน จะเจอกับนวัตกรรมของคำว่า ใหม่ ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเฉพาะด้านการเขียนโค้ด (Coding) หรือการพัฒนาโรบอต (Robotic) แต่เป็นความใหม่ในแง่ของการตอบโจทย์ความต้องการ หรือสิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกขาดหายในสิ่งนั้น
สุดท้ายเป็นคำว่า เข้าใจโลกใบนี้ เพราะนับตั้งแต่โลกได้รู้จักการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มนุษย์ได้ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในอากาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาที่มนุษย์โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของอุณหภูมิที่ไม่เหมือนเดิม ไปจนถึงของเสียที่มนุษย์สร้างเอาไว้อย่างพลาสติก เป็นต้น
เช่นนั้นแล้ว การพัฒนานวัตกรรมจึงต้องตระหนักถึงความพยายามที่จะไม่เบียดเบียนทรัพยากรโลก เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาลุกลามต่อเนื่องไปจนถึงคนรุ่นหลัง (Next Generation) สำหรับการทำให้นวัตกรรมมีความยั่งยืน และนำนวัตกรรมนี้สู่โมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์
หัวข้อต่อมาเป็นเรื่องของแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และ SDG3 โดยอรนุช เลิศสุวรรณกิจ และดร.อุบลวรรณ หงษ์วิทยากร
ทั้งนี้ คำจำกัดความของ SDG หมายถึง Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย แต่ในการแข่งขัน CUD Hackathon 2023 ได้เน้นไปที่เป้าหมายที่ 3 ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ กล่าวว่า ปี 2023 เป็นปีที่ยังมีโอกาสดีๆ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านเฮลธ์แคร์ ซึ่งแม้ว่าในประเทศไทยยอดการระดมทุนสตาร์ทอัพเฮลธ์แคร์ไม่สูงมาก แต่ว่าถ้ามองในมุมของเทรนด์โลก เป็นสิ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย เนื่องจากได้เกิดเครื่องมือการวิเคราะห์ด้านสุขภาพจากสมาร์ทโฟน หรือการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแพทย์ด้วยรูปแบบของเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ครบวงจรทั้งการตรวจ จ่ายยา ส่งตรงถึงมือผู้ป่วย เป็นต้น
...
ขณะเดียวกัน เทรนด์ด้านสุขภาพที่มาแรงไม่แพ้กัน นั่นคือ การตรวจสอบร่างกายและสุขภาพของตัวเองด้วยวิธีการเบื้องต้น ผ่านอุปกรณ์สวมใส่ ทั้งรูปแบบนาฬิกาข้อมือ และสวมใส่บนศีรษะ เพื่อตรวจจับพฤติกรรมต่างๆ ว่ามีความผิดปกติภายในร่างกายหรือไม่
สุดท้ายแล้วการทำสตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จได้ ผู้พัฒนาต้องมีความชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องการแก้ปัญหาที่ว่านี้ให้กับใคร และต้องเข้าใจความรู้สึกเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง จากนั้นจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น