การแข่งขันและประกวด ออกแบบนวัตกรรมภายใต้ชื่อ CUD Hackathon 2023 “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Innovation for good health & well-being)” จัดโดย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศแล้ว มาลุ้นกันว่าวันที่ 28-29 มกราคม 2566 นี้ จำนวน 30 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ทีมไหนจะเป็นผู้ชนะ
ที่มาของงาน CUD Hackathon 2023
จากการที่โลกต้องเผชิญวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แพร่ระบาด และสังคมไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากปัจจัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น การเกิดอุบัติเหตุทางถนน การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเสียชีวิตจากการได้รับสารเคมี และการปนเปื้อนจากแหล่งต่างๆ ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5
รวมไปถึงข้อจำกัดต่างๆ ในการเข้าถึงและรู้เท่าทันในการดูแลสุขภาวะของตนเองของคนในทุกช่วงวัย ทำให้การแสวงหาแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ยังเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ดังนั้นการส่งเสริมให้มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนทุกช่วงวัยสอดคล้องตามเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG3) เป็นสิ่งสำคัญต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ
ขณะเดียวกันโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย คนรุ่นใหม่ ให้เป็นนวัตกรที่คิดทำเพื่อสังคม และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้มีคุณภาพ โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเพื่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน จึงดำเนินการจัดงาน CUD Hackathon 2023 ขึ้น
...
โดยมีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนโครงการด้วย และเปิดรับสมัครทีมนักเรียนจากโรงเรียนทั่วประเทศส่งผลงาน ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม–วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
รูปแบบการแข่งขัน CUD Hackathon 2023
ทีมที่ร่วมแข่งขัน CUD Hackathon 2023 “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Innovation for good health & well-being)” นี้ ต้องเสนอโมเดลธุรกิจด้วยการแข่งขันเสนอไอเดียอย่างน่าสนใจ (Pitching) ซึ่งรูปแบบนี้จะช่วยพัฒนาให้เยาวชนไทยได้ฝึกการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ในรูปแบบกิจกรรม CUD Hackathon
ไอเดียที่น่าสนใจนี้ มีทั้งการใช้เทคโนโลยี IoT, AI, Robotics, Software on Devices หรือ Application Software รวมไปถึงการบูรณาการเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้พัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ดังกล่าว
สำหรับทีมที่เข้าแข่งขัน ประกอบด้วยสมาชิกทีมละ 4 คน ใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมง ในการแข่งขันเสนอไอเดียที่มีทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 30 ทีม จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จัดขึ้นวันเสาร์ที่ 28-วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม 30 ทีมดังกล่าวนี้ เป็นทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากทีมที่สมัครมาร่วมแข่งขันทั้งหมด 143 ทีม 64 โรงเรียนทั่วประเทศ จำนวนนักเรียน 551 คน โดยมีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6
...
สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันนวัตกรรม CUD Hackathon 2023 “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Innovation for good health & well-being)” รอบชิงชนะเลิศนี้ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้จัดงานพิธีเปิดการแข่งขัน โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นประธานในพิธี ในวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 เวลา 08.00-09.00 น. ที่ห้องประชุมพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย