"เศรษฐพงค์" เผย "กมธ.ดีอีเอส" ถก "นาซ่า" หารือแนวทางพัฒนากิจการอวกาศ พร้อมเชิญเยือนไทย 25 ม.ค.ปีหน้า ลงพื้นที่สำรวจห้องปฏิบัติการ "เวียงป่าเป้า" แลกเปลี่ยนความรู้ทางโทคโนโลยี-วิชาการ นำไปทำแผนสู่อนาคต
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.65 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ที่มี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเรื่อง การหารือร่วมเกี่ยวกับการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย ระหว่าง กมธ.ดีอีเอสกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) โดยมีผู้แทนจากนาซ่า 8 ท่าน เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ และยังมีตัวแทนจากบริษัท เทโรสเปซ จำกัด คณะทำงานจัดทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ และผู้แทนจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ร่วมประชุม โดยประเด็นหลักๆที่หารือคือเรื่องความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ปัญหาโลกร้อนและการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ทางนาซ่าให้ความสนใจมาก เพราะเป็นผลกระทบต่อทั่วโลก
...
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องการดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Laboratory) ณ วิทยาลัยเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมกับการทำการเกษตร ที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างมากในเรื่องนี้ โดยในวันที่ 25 ม.ค.2566 กมธ.ฯได้เชิญองค์การนาซ่ามาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะได้มีการหารือในเรื่องความร่วมมือ เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและทางวิชาการต่างๆ และจะพาคณะลงพื้นที่ดูห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Laboratory) ที่วิทยาลัยเวียงป่าเป้า ซึ่งในเรื่องนี้ทางสถานฑูตสหรัฐอเมริกาก็สนใจที่จะไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงเรื่องการรักษาผ่านระบบทางไกล (Telemedicine) ซี่งมีความสำคัญโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโรคระบาด ซึ่งได้รับความสนใจจากทางนาซ่าเป็นอย่างมาก
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่เราได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ ที่วิทยาลัยเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพราะที่นี่มีความพร้อมและเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศบ่อย เหมาะสำหรับการศึกษาและวิจัย และยังช่วยลดความเดือดร้อนจากภัยพิบัติให้กับชาวบ้านได้ เราจึงใช้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้น และจะมีการเปิดห้องปฏิบัติการแบบนี้ไปยังทุกภูมิภาคในวันข้างหน้า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยการเชิญคณะนาซ่ามาในครั้งนี้นั้น เราจะได้ประโยชน์อย่างมากในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย ที่ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่งตรงนี้จะได้นำความรู้ที่ได้จากนาซ่า ไปจัดทำแผนได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้าน นายบวรรัตน์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท เทโรสเปซ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในกิจการอวกาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับ กมธ.ดีอีเอส และองค์การนาซ่า เราได้เห็นพัฒนาการที่ดีในด้านความร่วมมือด้านอวกาศ ซึ่งอนาคตกิจการอวกาศจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง บริษัท เทโรสเปซฯ มีความสนใจที่จะประสานความร่วมมือกับ กมธ.ดีอีเอส นำแพลตฟอร์มของเทโรสเปซ (TeroSpace) มาต่อยอดเพื่อทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งการสำรวจ วิเคราะห์ และคำนวณสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาภัยพิบัติ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนใช้ประเมินผลผลิตทางการเกษตรภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปเป็นข้อมูลหลักฐาน เพื่อให้ธนาคารใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยเงินกู้ได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่แฟลตฟอร์มดังกล่าวนานแล้ว