ผลสำรวจ 8 ประเทศเอเชียในหัวข้อ “โทรศัพท์มือถือกับการทำงาน” ชี้ให้เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วแห่งอาเซียนอย่างสิงคโปร์ยังคาใจกับการใช้มือถือเพื่อประโยชน์ในการทำงาน และคนสิงคโปร์เพียง 2 ใน 10 เท่านั้น ที่รู้สึกว่ามือถือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คนไทยเป็นตัวท็อปปล่อยใจใช้มือถือเต็มพิกัด ไม่กังวลและเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ๆ
เทเลนอร์ เอเชียเปิดผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” ฉบับที่ 2 ในหัวข้อ “โทรศัพท์มือถือกับการทำงาน” โดยสำรวจจากพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือ 8,000 ราย ใน 8 ประเทศกลุ่มเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ผลสำรวจพบ ผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์มีความค้างคาใจเกี่ยวกับประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือต่อชีวิตการทำงานมากที่สุด โดยแม้คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ที่ 69% (เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 90%) จะยอมรับว่ามือถือมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะของพวกเขาในที่ทำงาน แต่มีเพียง 35% (เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 55%) เท่านั้น ที่คิดว่ามือถือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่า 20%
...
นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์เพียง 2 ใน 10 ที่รู้สึกว่ามือถือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ รั้งท้ายในบรรดา 8 ประเทศที่ทำการสำรวจ ยิ่งไปกว่านั้นชาวสิงคโปร์จำนวน 11% เห็นว่าโทรศัพท์มือถือส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาลดลงอย่างมาก สวนทางกับผู้ตอบแบบ สอบถามทั่วทั้งภูมิภาค ที่เชื่อว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะเพศหญิงกว่า 61% มากกว่าผู้ชายที่ 39% รู้สึกว่ามือถือและอุปกรณ์พกพา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาชีพและทักษะการทำงาน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 54% สำหรับผู้หญิงและ 52% สำหรับผู้ชาย
นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยังมีความกังวลน้อยที่สุดคือ 25% ว่าจะก้าวไม่ทันเทคโนโลยีมือถือ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 42% คนไทยยังเป็นชาติที่มีความกังวลน้อยที่สุด ว่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานมือถือ โดยมีคนกังวลอยู่ที่ 40% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 60% และชาวไทย 55% ยังเป็นกลุ่มที่
มองโลกในแง่บวกมากที่สุด เกี่ยวกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่จากมือถือ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 52%
นายเยอเก้น โรสทริป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์ เอเชีย กล่าวว่า งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเชื่อมต่อผ่านมือถือเป็นตัวกลางที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความก้าวหน้าความยืดหยุ่น และโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีช่องว่างในการใช้งานเทคโนโลยีระหว่างคนในเมืองและชนบท บริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ระหว่างอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ผู้บริหารและพนักงานใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ คนยังกังวลอย่างมากเกี่ยวกับทักษะและความสามารถของตน ในการก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ประเด็นเรื่องความไว้วางใจในการทำงาน ยังส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถบรรลุศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ เมื่อต้องทำงานบนโลกออนไลน์มากขึ้น.