รัฐสภายุโรป หรือ European Parliament ลงมติเอกฉันท์สนับสนุนการบังคับใช้ USB-C เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้สิ้นปี 2024

ประเด็นเรื่องการวางมาตรฐานกลางสำหรับการชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นประเด็นที่ผู้คนในวงการเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้ความสนใจ โดยเฉพาะแนวทางของสหภาพยุโรป ที่ต้องการผลักดันมาตรการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุด การลงคะแนนเสียงของรัฐสภายุโรป ได้มีมติอย่างท่วมท้น 602 เสียงต่อ 13 เสียง สนับสนุนให้ USB-C เป็นมาตรฐานกลาง

ขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อคณะมนตรีมีการลงนามแล้ว คำสั่งมีผลบังคับใช้ในเวลาอีก 20 วัน หลังการตีพิมพ์วารสารของสหภาพยุโรป โดยที่สมาชิก มีเวลา 12 เดือนในการปรับแก้ แล้วในอีก 12 เดือนหลังจากนั้น เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับใช้ ดังนั้นแล้ว ในช่วงปลายปี 2024 สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, กล้องถ่ายภาพ, เครื่องเล่นเกมคอนโซล และอื่นๆ ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ต้องใช้ USB-C

หลังจากนั้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ผลบังคับใช้ส่วนนี้จะรวมไปถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังมีประเด็นแยกย่อยจาก USB-C อีกหนึ่งประเด็น นั่นคือ การรองรับการชาร์จไวประเภทต่างๆ โดยในเวลานี้ ความสามารถด้านการชาร์จไวยังไม่ถูกวางเป็นมาตรฐานกลางตามเจตจํานงของสหภาพยุโรป แต่ในอนาคต จะมีการบังคับใช้ให้การชาร์จไวต่างๆ ต้องใช้งานร่วมกันได้ (Compatible) แม้มาจากคนละผู้ผลิตก็ตาม

จากการบังคับใช้ USB-C ให้เป็นมาตรฐานกลางของสหภาพยุโรป ไม่ได้กระทบอะไรมากนักต่อผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) เช่นเดียวกับแท็บเล็ตจำนวนมาก (รวมถึง iPad) แต่ที่กระทบหนักที่สุดก็คือไอโฟนของแอปเปิล (Apple) เพราะจนถึงตอนนี้ แอปเปิล ยังไม่เคยใช้ USB-C ในไอโฟนแม้แต่รุ่นเดียว ทั้งนี้ แอปเปิลใช้พอร์ต Lightning ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเอง

...

ความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับการใช้ USB-C บนไอโฟน นั่นคือ การเปิดตัว iPhone 16 ซึ่งจะวางจำหน่ายในปี 2024

การที่ สหภาพยุโรป วางมาตรฐานกลางสำหรับการชาร์จด้วย USB-C มีการประเมินว่า จะช่วยให้เกิดการประหยัดเงินของผู้บริโภครวมกันได้มากถึง 250 ล้านยูโรต่อปี และเกิดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 1.1 หมื่นตัน

ที่น่าสนใจก็คือ จากแนวทางของสหภาพยุโรป ได้ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จำนวน 3 คน กดดันให้สหรัฐอเมริกา เดินตามรอยยุโรป ด้วยการบังคับมาตรฐานกลางสำหรับการชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหภาพยุโรป.

ที่มา : TechCrunch