กลุ่มคนเจนแซด (Gen Z) ซึ่งเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่าวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวนี้มีแนวโน้มเลิกใช้งานเฟซบุ๊ก เพราะไม่ได้พบคุณค่าในแพลตฟอร์มนี้ แต่ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่ออินสตาแกรม ยังคงครองใจวัยรุ่นได้

ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เปิดเผยผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเจนแซด พบตัวเลขว่า กลุ่มคนวัยที่มีอายุ 13-17 ปี มีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้งานเฟซบุ๊ก ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวเลขที่เคยเก็บข้อมูลในปี 2014-15 ในขณะนั้นวัยรุ่นใช้งานเฟซบุ๊กมากถึง 71 เปอร์เซ็นต์

เมื่อสืบเสาะสาเหตุที่ทำให้เฟซบุ๊กไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้งานเจนแซด เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถค้นหาคุณค่า (Value) จากแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นก็มีตัวเลือกที่จะใช้งานแพลตฟอร์มมีเดียมากกว่าแต่ก่อน จึงทำให้เฟซบุ๊กไม่ใช่ตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียวของผู้ใช้งานอีกต่อไป นอกเหนือจากนี้ เฟซบุ๊ก ยังดูจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า ทำให้เจนแซดซึ่งมีอายุน้อยไม่สามารถยึดโยงตัวเองเข้ากับเฟซบุ๊กได้

แม้เฟซบุ๊กจะไม่ใช่แพลตฟอร์มที่หนึ่งในใจของคนเจดแซด แต่อินสตาแกรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มภายใต้การดูแลของเมตา (Meta) บริษัทเดียวกับเฟซบุ๊ก กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับวัยรุ่น ตัวเลขผู้ใช้งานอินสตาแกรมของวัยรุ่นตอนนี้อยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2014-15 ในเวลานั้นมีวัยรุ่นใช้งานเพียง 52 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

วัยรุ่นเมินเฟซบุ๊ก แต่ยังตอบรับอินสตาแกรม
วัยรุ่นเมินเฟซบุ๊ก แต่ยังตอบรับอินสตาแกรม

...

ทางด้าน ติ๊กต่อก (TikTok) คู่แข่งรายสำคัญของอินสตาแกรม ก็มีตัวเลขการใช้งานในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ต่างจากอินสตาแกรม โดยมีตัวเลขผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ราว 67 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ยูทูบ (YouTube) เป็นแพลตฟอร์มที่มีตัวเลขชัดเจนว่ามีผู้ใช้งานเยอะที่สุด ด้วยตัวเลข 95 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่า ยูทูบ ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์มากนัก เพราะท้ายที่สุดแล้วยูทูบถูกใช้งานในลักษณะสำหรับการรับชมวิดีโอ รวมถึงการฟังเพลงผ่านยูทูบ มิวสิก (YouTube Music)

การที่ ติ๊กต่อก มีตัวเลขการใช้งานที่สูงกว่าทั้งเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ถึงตรงนี้น่าจะพอทำให้เห็นภาพชัดเจนแล้วว่า ทำไมเมตาจึงมีความต้องการที่จะสร้างระบบนิเวศของตัวเองให้คล้ายกับติ๊กต่อก ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการผลักดันฟีเจอร์ Reels ให้ปรากฏทั้งในอินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก

ผลสำรวจสุดท้ายที่ ศูนย์วิจัยพิวหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น นั่นคือการเสพติดโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการติดหนึบอยู่กับสมาร์ทโฟนที่มากเกินไป กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ ให้คำตอบว่า พวกเขาไม่มีปัญหาใดๆ หากจะต้องเลิกใช้งานโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 36 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับใช้งานโซเชียลมีเดียมากเกินไป และ 8 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุว่า พวกเขาใช้งานโซเชียลมีเดียน้อยเกินไป

ที่มา: TechCrunch