ประเด็นการเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ (Twitter) โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) นับเป็นประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในโลกเทคโนโลยี ตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปี 2022 เลยก็ว่าได้
อีลอน มัสก์ เป็นใครคงไม่ต้องสาธยายให้เสียเวลา เพราะนี่คือชายที่ทำให้โลกสามารถหยุดนิ่ง หรือสั่นสะเทือนก็ย่อมได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัสจากสมาร์ทโฟนหรือแล็ปท็อป โดยมีปลายทางอยู่ที่โซเชียลมีเดีย
อีลอน มัสก์ เป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 84.7 ล้านราย และจากการที่เคยเป็นแต่เพียงเจ้าของบัญชี ในเวลานี้ อีลอน มัสก์ กำลังเข้าใกล้ที่จะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์อีกด้านหนึ่งด้วย
นี่คือ 3 สิ่งที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ สำเร็จลุล่วง
ปุ่ม Edit
แม้ในความเป็นจริงแล้ว ทวิตเตอร์กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาปุ่มแก้ไข หรือ edit tweet button เพียงแต่ความสามารถดังกล่าว จะมีให้ใช้งานก่อนใครเฉพาะผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกของ Twitter Blue เท่านั้น
แต่การที่ อีลอน มัสก์ เข้าใกล้โอกาสที่จะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ ก็มีโอกาสที่เขาจะสั่งให้ดำเนินการพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานนี้เร็วขึ้น ซึ่งอาจขยายการใช้งานมายังกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทั่วไปอีกด้วย
นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่เปิดประเด็นปุ่มแก้ไขทวีตให้เป็นที่พูดถึงในโลกทวิตเตอร์อีกครั้ง
นอกเหนือจากนี้แล้ว ทวิตเตอร์อาจกลายเป็นโซเชียลมีเดียกระแสหลักแพลตฟอร์มแรกๆ ที่จะเปิดให้อัลกอริทึมของตัวเองอยู่ในสถานะโอเพนซอร์ส (Opensource) ซึ่งง่ายต่อการอยู่เรดาร์ของการตรวจสอบ
จับตาแนวทางการสร้างรายได้
ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง แต่ถ้าหากเราดูเนื้อในของทวิตเตอร์แล้ว พวกเขาเป็นแพลตฟอร์มที่ยังไม่สร้างกำไรมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก (Facebook) ผลิตภัณฑ์สำคัญของเมตา (Meta)
...
ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนจำนวนไม่น้อย มีความกังวลว่า ทวิตเตอร์ จะมีกราฟการเติบโตที่ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ควรต้องกล่าวเอาไว้ด้วยว่า ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2021 ยอดรายได้ของทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพียงแต่ว่า ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ เป้าหมายการปั้นยอดผู้ใช้งานรายวันแตะหลัก 315 ล้านคน ถือเป็นเป้าที่สูงไม่น้อย เนื่องจากในปัจจุบัน ยอดผู้ใช้งานรายวันของทวิตเตอร์ในเวลานี้ อยู่ที่ 217 ล้านคน เท่านั้น
ต่อมาเป็นเรื่องของแนวทางการสร้างรายได้ของทวิตเตอร์ในช่องทางอื่นที่ไม่ได้มาจากระบบโฆษณา ปัจจุบัน ทวิตเตอร์มีรูปแบบการหารายได้ในวิธีการของระบบสมัครสมาชิก แต่ก็ยังไม่ได้ขยายการให้บริการไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในบริการของ Twitter Blue
นอกจากนี้ บริการ Twitter Blue ก็ยังถูกตั้งคำถามไม่น้อยเช่นกันว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะฟีเจอร์การให้บริการของ Twitter Blue ก็ไม่ได้ชวนว้าวจนถึงขั้นต้องเสียเงินสมัครเป็นสมาชิก
สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ตรงนี้แหละว่า อีลอน มัสก์ จะมีกลเม็ดเด็ดพรายใดที่ทำให้ทวิตเตอร์เป็นบริการที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์แบบฟรีๆ อยู่ก่อนแล้ว ต้องยอมควักเงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิก
ล้างไพ่ฝ่ายบริหาร
อย่างสุดท้ายที่น่าจะเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งแรกๆ ที่อีลอน มัสก์ จะลงมือทำหลังการเทคโอเวอร์สำเร็จ นั่นคือ การล้างไพ่เหล่าคณะกรรมการบริษัท หรือบอร์ด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า เพราะการบริหารบริษัท หรือบอร์ด มีการทำงานที่ดูจะขัดหูขัดตาอีลอน มัสก์ ไปเสียทั้งหมด เช่น การทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งบรรดาคณะกรรมการบริหารของบริษัท เป็นกลุ่มบุคคลที่มีหุ้นในทวิตเตอร์เพียงน้อยนิดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ แต่มีการตัดสินใจที่ขัดกับแนวทางของผู้ถือหุ้น
พร้อมกันนี้ มัสก์ ยังเคยกล่าวด้วยว่า ผลตอบแทนที่คณะกรรมการบริษัทได้รับจากทวิตเตอร์เป็นเงินรวมกันมากถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าหากมัสก์มีอำนาจในทวิตเตอร์ เขาจะไม่อนุมัติงบส่วนนี้ให้แก่คณะกรรมการบริษัท และทุกคนจะมีรายได้ในส่วนนี้เท่ากับ 0 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ อนาคตของปารัก อักราวัล ซีอีโอคนปัจจุบันของทวิตเตอร์ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะในด้านหนึ่ง อักราวัล ก็มาจากคนของบอร์ดชุดปัจจุบัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า อักราวัล ก็เป็นคนที่มีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับแจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอคนก่อนหน้านี้ อีกทั้ง ในช่วงที่มัสก์ มีความต้องการอยากได้ทวิตเตอร์เป็นเจ้าของ ดอร์ซีย์คนเดียวกันนี้ ก็ดูจะสนับสนุนแนวทางของอีลอน มัสก์ ทั้งในเชิงทวีตตำหนิการทำงานของบอร์ดทวิตเตอร์ เพียงแต่เจ้าตัวไม่ได้แสดงออกอย่างออกนอกหน้าเท่านั้นเอง ซึ่งเราอนุมานได้ว่า แจ็ค ดอร์ซีย์ น่าจะเป็นพวกเดียวกับอีลอน มัสก์
ทั้งหมดนั้น ก็อาจทำให้ปารัก อักราวัล ยังคงนั่งในตำแหน่งเก้าอี้ซีอีโอต่อไป หรืออย่างน้อยก็นั่งเป็นผู้บริหารสูงสุด จนกว่าการเปลี่ยนแปลงในทวิตเตอร์จะสะเด็ดน้ำ.