"เศรษฐพงค์" มองการพัฒนาเทคโนโลยีการบิน-กิจการอวกาศ กำลังทำให้โลกก้าวเข้าสู่ดินแดนใหม่ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม 5.0" ชี้หากองค์กรใดปรับตัวเร็วอยู่รอดได้ ใครไม่รู้ตัวจะล้มหายตายจากใน 5-10 ปี

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า LEO satellite networks กำลังจะเชื่อมระบบสื่อสารจากอวกาศสู่มือถือ 5G/6G ของผู้คนทั่วโลก รวมไปถึง IoT ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า, เครื่องบิน, โดรน, หุ่นยนต์, แว่น VR/AR, อุปกรณ์ในโรงงาน รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ในตัวมนุษย์ สัตว์ และอื่นๆ ที่เหนือจะจินตนาการ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ กำลังจะทำให้โลกก้าวเข้าไปสู่ดินแดนใหม่และระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมทุก sector ที่มองไม่เห็นต่อผลกระทบครั้งนี้ จะล้มหายตายจากไปอย่างไม่รู้ตัวภายใน 5-10 ปีนี้ แม้จะดูเหมือนว่ามีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แต่ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ยังระบุว่าประชากรเกือบ 2,400 ล้านคนหรือประมาณ 55% ของประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งมีผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมอย่างมาก

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากกลุ่มดาวเทียม LEO ที่ใช้สำหรับการสื่อสารแล้ว ยังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาเทคโนโลยีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ที่มีประโยชน์อย่างมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดาวเทียม ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว อีกทั้งยังมีดาวเทียมสำรวจโลกที่สามารถเป็นแหล่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ เช่น การเห็นภาพถ่ายดาวเทียมบน Google แบบเกือบ real time เป็นต้น โดยบริการที่แปลกใหม่เหลือเชื่อเหล่านี้ กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้สำหรับตรวจสอบพืชผลการเกษตร การติดตามการตัดไม้ทำลายป่าและการปลูกป่า การวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การติดตามการใช้พลังงานทั่วทุกมุมโลก และการจัดหาข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์คาดการณ์ในด้านการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

...

"การพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ กำลังจะทำให้โลกก้าวเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมทุก sector ที่มองไม่เห็นต่อผลกระทบครั้งนี้ จะล้มหายตายจากไปอย่างไม่รู้ตัวภายใน 5-10 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมและองค์กรใดที่มองเห็นโอกาสจากภัยคุกคามครั้งนี้ ก็จะสามารถอยู่รอดอย่างแข็งแกร่งในดินแดนแห่งอุตสาหกรรม 5.0 ที่มนุษย์และเครื่องจักรทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว