ส่องพฤติกรรมแก๊งต้มตุ๋นผ่านโทรศัพท์-เอสเอ็มเอส ระบาดอาละวาด ทั่วโลก แต่กลยุทธ์แตกต่างกันไป ในไต้หวันหลอกเรื่องหุ้นเพราะตลาดหุ้นเฟื่องฟู ในญี่ปุ่นหลอกปลอมเป็นพนักงานการไฟฟ้า ส่วนในเกาหลีใต้หลอกว่าเป็นอัยการ เผยเป็นวิธีการที่ง่าย ถูก แถมยิงตรงถึงตัวเหยื่อ เปิดตัวเลขปี 64 โทรต้มตุ๋นและเอสเอ็มเอสหลอกลวงทั่วโลกมีจำนวน 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58%
อีริค ลี ผู้อำนวยการด้านเทคนิคและการค้นคว้าวิจัยด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี AI ของ Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall แอปป้องกันการฉ้อโกง ที่จะช่วยระบุเลขหมายโทรศัพท์ที่ไม่รู้จักและสแกนลิงก์จากข้อความเอสเอ็มเอสที่เป็นอันตราย กล่าวว่า นักต้มตุ๋นมักจะพยายามหลอกล่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดไฟล์ APK ผ่านลิงก์ฟิชชิง โดยไฟล์แอปนี้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบและไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่บนแอปสโตร์ต่างๆ หลังการติดตั้ง มัลแวร์นี้อาจมีการเรียกเก็บเงินจำนวนเล็กน้อย หรือขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน จึงควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิ เคชันจากแหล่งที่ไม่รู้จักเพื่อจะได้ไม่ถูกฉ้อโกง
...
จากข้อมูลของ Whoscall ระหว่างเดือน ม.ค.2564-ธ.ค.2564 การหลอกลวงผ่านข้อความเอสเอ็มเอสมีเพิ่มมากขึ้นทุกประเทศ ใน 3 ประเทศแรกที่มีผู้ใช้แอป Whoscall สูงสุด ได้แก่ ไต้หวันเพิ่มขึ้น 190.13% ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวง ด้านการลงทุนในหุ้น เนื่องมาจากตลาดหุ้นที่เฟื่องฟู รองลงมาเป็นบราซิลเพิ่มขึ้น 69.55% และไทย 57.66%
ส่วนในประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย 23.05% เกาหลีใต้ 9.36% ญี่ปุ่น 5.76% และฮ่องกงลดลง -15.65% โดยพฤติกรรมหลอก ลวงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สําหรับในฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้ มีการหลอกลวงด้วยการปลอมตัวเป็นอัยการ ส่วนในญี่ปุ่นแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัทไฟฟ้าหลอกเก็บค่าบำรุงรักษาจากประชาชน
ทั้งนี้ ในปี 2564 การโทรและส่งข้อความหลอกลวงทั่วโลกมีจำนวน 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการ Work from Home และซื้อของออนไลน์มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีมีช่องทางหลากหลายในการใช้กลลวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หลอกว่าเป็นบริษัทขนส่ง
นอกจากนั้น การโพสต์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย หรือการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวจากระบบไอทีของผู้ให้บริการต่างๆ ก็มีส่วนทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลได้ และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือการหลอกลวงผ่านการโทรและส่งเอสเอ็มเอส มีราคาถูกแต่สามารถเข้าถึงเหยื่อได้โดยตรง
ในส่วนของประเทศไทย Gogolook เปิดเผยว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในไทยมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งข้อความเอสเอ็มเอสหลอกลวงเพิ่มขึ้น 57% โดยวิธีที่พบบ่อยคือการส่งลิงก์ฟิชชิงหลอกเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตรายและหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย เผยว่า ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อมีเบอร์แปลกโทรหรือส่งข้อความเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวมีการขอข้อมูลส่วนตัว.